วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นายสมชาย มรกตศรีวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ราชอาณาจักรไทย นำคณะผู้แทนฝ่ายไทย ประชุมระดับวิชาการไทย - กัมพูชา ร่วมกับนายเส็ง ศักดา (H.E. Mr. Seng Sakda) ผู้แทนรัฐบาล รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมแรงงาน กระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพ แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมเคนซิงตัน อิงลิช การ์เด้น รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
นายสมชาย กล่าวว่า การประชุมระดับวิชาการไทย - กัมพูชา ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย และเพื่อให้แรงงานกัมพูชาได้รับสิทธิเข้าถึงสวัสดิการ ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และฝ่ายไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางบริหารจัดการแรงงานกัมพูชาที่ไม่มีเอกสารประจำตัวหรือเอกสารประจำตัวหมดอายุ ซึ่งนายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่อกรมการจัดหางานแล้ว และได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ให้ดำเนินการภายในระยะเวลที่กำหนด โดยยื่นคำขออนุญาตทำงานและชำระค่าธรรมเนียม ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 จากนั้นจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ปรับปรุงทะเบียนประวัติ และจัดทำเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 และทางการไทยได้ขอให้ฝ่ายกัมพูชาพิจารณาจัดตั้งศูนย์ออกเอกสารเดินทาง (Travel Document: TD) ในประเทศไทย เพื่อดำเนินการออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567
นอกจากนี้ยังได้หารือถึงแนวทางการบริหารจัดการแรงงานกัมพูชาตาม MOU ที่วาระการจ้างงาน ครบ 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 ธันวาคม 2566 ที่ได้รับการยกเว้นระยะเวลาพัก 30 วัน (หากประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง) ตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นการดำเนินการตามข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน (Agreement) เกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาพัก 30 วัน ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ด้านนายเส็ง ศักดา ผู้แทนรัฐบาล รักษาการอธิบดีกรมแรงงานและฝึกอาชีพ กระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาออกวีซ่าประเภท Non - Immigrant LA ให้แก่แรงงานกัมพูชา ณ จุดผ่านแดนระหว่างประเทศกัมพูชา – ไทย เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินการ และขอให้ทั้ง 2 ฝ่าย จัดส่งหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน (Demand Letter) และบัญชีรายชื่อ (Name List) ผ่านระบบออนไลน์ การปรับปรุงบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มาตรา 7 สัญญาจ้างงาน (การจ้างงานระยะสั้น) รวมทั้ง การเพิ่มชื่อบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย และหมายเลขโทรศัพท์ในบัญชีรายชื่อ (Name List) นอกจากนี้ทางฝ่ายกัมพูชายังเตรียมการเยี่ยมคารวะเพื่อพบปะระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและฝึกอาชีพแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านแรงงานของทั้ง 2 ประเทศในเร็ววันนี้
“ประเทศไทย และประเทศกัมพูชา มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและรักษาความร่วมมือในการบริหารจัดการการย้ายถิ่นของแรงงานแบบทวิภาคีมาโดยตลอด ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นอีกโอกาสสำคัญสำหรับทั้งสองฝ่ายที่จะส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกัน ช่วยให้สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินการในอนาคต รวมถึงส่งเสริมการย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยและเป็นระเบียบของแรงงานระหว่างสองประเทศอย่างแน่นอน” นายสมชาย กล่าวท้ายสุด