วันนี้ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงข่าวมติเงื่อนไขการแจก เงินดิจิทัล 10,000 บาท ระบุว่า จะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้แก่ประชาชนไทยอายุ 16 ปี ขึ้นไป ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินเก็บฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท
นายเศรษฐากล่าวว่า ข่าวดีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้เป็นแค่ความฝัน แต่เป็นความจริง รัฐบาลได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงินในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท อยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้าน ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ
ทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย และต้องผ่านมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะมีการสรุปครั้งสุดท้ายในขั้นตอนต่อไป โดยตัวเลขทั้งหมดได้เกิดจากการฟังความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกัน จนนำไปสู่การปรับเงื่อนไขดิจิทัลวอลเล็ตให้รัดกุมขึ้น
ทั้งนี้รัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 1 หมื่นบาท ให้กับคนไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท
ส่วนผู้ที่มีรายได้เกิน 70,000 บาท แต่เงินฝากน้อยกว่า 5 แสน และผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท ต่างก็จะไม่ได้รับสิทธิเงินดิจิทัลในครั้งนี้
รัฐบาลจะให้สิทธิประชาชนใช้จ่ายภายในระยะ 6 เดือน หลังจากที่โครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายครอบคลุมถึงระดับอำเภอ ตามที่ได้รับฟังความคิดเห็นมา พร้อมกับใช้เงินเพิ่มขีดความสามารถ ภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท ส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา
กองทุนดังกล่าวจะใช้ดึงดูดผู้ที่มีความสามารถ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะให้คนไทยทุกคน มีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้
ดังนั้นรัฐบาลจะออกโครงการ E-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล จากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยจะให้ใบกำกับภาษีมาประกอบยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ท่าน
ฉะนั้นคนที่ไม่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ ทั้งยังทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย
จึงสรุปได้ว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อประเทศไทย 2 ประการ ได้แก่
1. กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น โดยมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกผ่านการบริโภคและการลงทุน
2. วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E- Government ซึ่งเป็นการวางและกไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเภทในระยะยาว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่า นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับรักษาวินัยการเงินของรัฐไว้ทุกประการ