วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าตามนโยบายของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและตลาดการค้าบริเวณแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการค้าขายสัตว์ป่าคุ้มครองตามสื่อออนไลน์ต่างๆ จึงได้กำชับและเข้มงวดให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยได้รับรายงานจากชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง ซึ่งได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ดำเนินการตรวจสอบผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Sam Surapong (สู้ต่อไปลมหายใจกุยังมี) ซึ่งได้โพสต์ภาพ และวิดีโอ การต่อนกปรอดเหลืองหัวจุกซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยใช้เพนียดดัก และนำไปประกาศขายนก ลงในเพจชื่อ “ชมรมคนรักนกกางเขนดงอุบลราชธานี” ซึ่งเป็นเพจสาธารณะ และสืบทราบว่าเจ้าของเฟสบุ๊คดังกล่าว ชื่อนายสุรพงศ์ เหง้าแก้ว อยู่บ้านเลขที่ 224 หมู่ 1 บ้านผาแก้ว ตำกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.30 น. คณะเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองตำบลกุดลาด จังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมกันนำหมายค้นศาลจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ค 173/2566 และ ค 174/2566 ลงวันที่ 9 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช 2566 ตรวจค้นบริเวณบ้านเลขที่ 114 และบ้านเลขที่ 218 ซึ่งอยู่ติดกัน ในท้องที่หมู่ 6 บ้านหนองมะนาว ตำบลกุดลาด อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และเป็นบ้านที่นายสุรพงศ์ เหง้าแก้ว อาศัยอยู่ ผลปรากฏ ดังนี้
1. บริเวณบ้านเลขที่ 114 พบบุคคลทราบชื่อภายหลังคือกับนางหนูแดง อุตมง แสดงตัวเป็นผู้ครอบครองบ้าน เป็นผู้นำคณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกนก ได้แก่ นกปรอดเหลืองหัวจุก จำนวน 2 ตัว นกปรอดสวน จำนวน 2 ตัว และนกปรอดคอลาย จำนวน 1 ตัว (รวม 3 ชนิด 5 ตัว) โดยนางหนูแดง อุตมง ให้ถ้อยคำว่านกที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบนั้นเป็นของนายสุรพงศ์ เหง้าแก้ว เป็นหลานของนางหนูพร อุตมง ขณะตรวจสอบนายสุรพงศ์ เหง้าแก้ว ไม่อยู่ไปทำงานรับจ้างที่ต่างอำเภอ
2. บริเวณบ้านเลขที่ 218 พบบุคคลทราบชื่อภายหลังคือนางสาวสมหมาย เหง้าแก้ว เป็นผู้นำคณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกนก ได้แก่ นกปรอดเหลืองหัวจุก จำนวน 5 ตัว นกกางเขนดง จำนวน 1 ตัว นกปรอดสวน จำนวน 1 ตัว และนกปรอดคอลาย จำนวน 1 ตัว (รวม 4 ชนิด 8 ตัว) โดยนางสาวสมหมาย เหง้าแก้ว ให้ถ้อยคำว่านกที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบนั้นเป็นของนายสุรพงศ์ เหง้าแก้ว
3. จากการตรวจสอบบ้านทั้งสองหลังพบสัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกนก รวม 4 ชนิด 13 ตัว ไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (ห่วงขา) และหลักฐานการอนุญาตให้ล่า ครอบครอง ค้า และเพาะพันธุ์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชแต่อย่างใด
4. คณะเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนายสุรพงศ์ เหง้าแก้ว เป็นการกระทำความผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ดังนี้
4.1 มาตรา 12 ฐาน “ล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษตามมาตรา 89 จำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.2 มาตรา 17 ฐาน “มีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี” มีอัตราโทษตามมาตรา 92 จำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.3 มาตรา 29 ฐาน “ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษตามมาตรา 89 จำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางจำนวนดังกล่าว และรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมทั้งจัดทำบันทึกเรื่องราวกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อออกหมายเรียกตัวนายสุรพงศ์ เหง้าแก้ว มาดำเนินคดีต่อไป โดยมอบหมายให้นายปราโมทย์ ราตรี ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ เป็นผู้กล่าวกล่าวโทษ
6. สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางจำนวนดังกล่าว ขออนุมัติพนักงานสอบสวนนำไปดูแลและเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนด้านสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) และดำเนินการตามระเบียบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ. 2565 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ต่อไป