ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ปลัด มท. มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม จ.นครพนม
12 พ.ย. 2566

ปลัด มท. มอบนโยบายสำคัญแก่ผู้บริหารจังหวัดนครพนม ย้ำ มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรและสถานที่ราชการ เพื่อยกระดับปรับบทบาทสถานที่ราชการให้พร้อมบริการประชาชน และเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ความมั่นคงของชีวิตในพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบริเวณที่ว่าการอำเภอบ้านแพง และที่ว่าการอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม พร้อมติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาที่ว่าการอำเภอให้เป็นจุดบริการที่พร้อมให้บริการประชาชนทุกมิติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นประธานมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยมี นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสงวน จันทร์พร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ปลัดจังหวัดนครพนม หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดนครพนม และนายอำเภอทุกอำเภอ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับเเละรับมอบนโยบายในครั้งนี้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ตลอดจนพระราชปณิธานในการ "ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" มาเป็นแสงนำใจในการมุ่งมั่นขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันเป็นเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นำทางให้ข้าราชการได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการบูรณาการภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมกันทำสิ่งที่ดีให้กับผืนแผ่นดินไทย ทำให้เป็นแผ่นดินทอง เป็นสุวรรณภูมิที่ประชาชนมีความอยู่ดี กินดี มีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยยังได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการให้บริการประชาชน โดยยึดถือเป็นเเนวคิดสำคัญว่า "การจะพัฒนาใครเขา เราจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองก่อน" เฉกเช่นที่อำเภอบ้านแพง เดิมตัวอาคารที่ว่าการอำเภอบ้านแพงมีสภาพอาคารและพื้นที่โดยรอบไม่เหมาะสมต่อการให้บริการและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะมีพื้นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ห้องน้ำมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่เรียบร้อย แต่ด้วย "ผู้นำ" ของจังหวัด คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และของอำเภอ คือท่านนายอำเภอบ้านแพง ได้นำแนวคิด Change for Good ด้วย Passion ด้วยใจรุกรบที่จะ "แก้ไขในสิ่งผิด" ทำให้ปัจจุบันที่ว่าการอำเภอบ้านแพง มีความเหมาะสมเเละความพร้อมที่จะให้การต้อนรับพี่น้องประชาชนที่มาใช้บริการ และทำกิจกรรมของชุมชนได้อย่างเต็มศักยภาพ

"สำหรับการขับเคลื่อนงานนโยบายที่สำคัญในขณะนี้ อย่างที่ทุกท่านทราบโดยทั่วกันว่า "การแก้จน" เป็นนโยบายหลักของกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาระบบ ThaiQM เพื่อ Re X-ray ข้อมูลจาก TPMAP ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมกับการคัดกรองเเละเพิ่มเติมข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจ โดยปีนี้เรามีเป้าหมายที่ 20 ล้านครัวเรือน ด้วยการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครเข้าไปด้วย เพื่อให้นายกเทศมนตรีเมืองและนายกเทศมนตรีนครทุกแห่ง ได้มีบทบาทร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอทั่วประเทศ และผมเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนในทุกมิติ เช่น หากพบปัญหาเด็กและเยาวชนที่อ่านหนังสือไม่ออก ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตามกฎหมาย จะต้องดำเนินการเเก้ไขปัญหาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือที่อำเภอท่าอุเทนมีตัวอย่างตำบลชัยบุรีที่เป็นพื้นที่ต้นแบบ ก็ให้ส่งเสริมส่วนราชการไปเรียนรู้เเละนำมาขยายผลส่งต่อสิ่งดี ๆ" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานของภาครัฐทั้งมิติการบริการและทุกด้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ "ข้าราชการ" ต้องพึงระลึกและย้ำเตือนตนเสมอว่า เราคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งการจะเป็นข้าราชการมืออาชีพที่มีคุณภาพได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1) การรักษาและธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ เสริมสร้างความภูมิใจให้กับคนในชาติ และสร้างความเข้มเเข็งของสถาบันครอบครัว 2) การพัฒนาสถานที่ราชการให้มีความพร้อมต่อการให้บริการประชาชน ด้วยการนำหลัก 5ส (สะสาง สะอาด สะดวก สุขลักษณะ และสร้างนิสัย) มาใช้อย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถีการทำงาน และ 3) การพัฒนาบุคลากร ด้วยการส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รู้จักการครองตน ครองคน ครองงาน และทำกิจกรรม 5ส ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างให้บุคลากรมีเจตคติที่ดี มีวินัย อันเป็นรากฐานของการเป็นข้าราชการที่มีคุณภาพ เพราะเป็นกิจกรรมที่ฝึกให้ทุกคนร่วมกันคิด ร่วมกันทำเป็นทีม ค่อยเป็นค่อยไปไม่ยุ่งยาก ไม่รู้สึกว่าการปฏิบัติงานอย่างมีระเบียบวินัยเป็นภาระเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

"นอกจากนี้ ต้องพัฒนาบุคลากรทางด้านจิตใจให้มีใจรุกรบ มี Passion ความเสียสละ ทุ่มเท และมีบุคลิกภาพ การแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ส่งเสริมการแต่งกายผ้าไทยโดยน้อมนำโครงการพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" มาปฏิบัติ เพื่อช่วยสร้าง Soft Power และส่งเสริมอาชีพของพี่น้องประชาชน และมีใจบริการ (Service Mind) ที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หรือเพื่อนร่วมงาน เช่น ทุกส่วนราชการเล็งเห็นถึงประโยชน์ความง่ายเเละความสะดวกของ ThaiD ก็ต้องช่วยกันส่งเสริมให้ใช้ ไม่ใช่ให้สำนักทะเบียนอำเภอมีหน้าที่รณรงค์อยู่ฝ่ายเดียว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ข้าราชการ เเละเจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวอย่างที่ดี และสร้างเสริมศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของสถาบันนักปกครองเเละสถาบันข้าราชการ" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน จุดเริ่มต้นอยู่ที่ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ดังนั้น คนมหาดไทยจะต้องส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเกิดความยั่งยืนด้วยการขยายผลองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้ให้เกิดขึ้น ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง โครงการทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และการคัดแยกขยะรวมถึงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยการปรับสภาพพื้นที่รกร้าง หรือพื้นที่อื่น ๆ ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ มีป้ายคำอธิบายบอกขั้นตอนเเละประโยชน์ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ของอำเภอเป็นผู้รู้จริง เพื่อให้คำเเนะนำพี่น้องประชาชนผู้สนใจ เช่น การคัดเเยกขวดพลาสติก หากต้องการให้ได้มูลค่าสูงจะต้องแยกชิ้นส่วนออกให้ชัดเจน ทั้งส่วนพลาสติกขุ่น (ฝาขวดน้ำ) พลาสติกใส (ตัวขวด) และพลาสติดขุ่นที่มีสารเคมี (ฉลากที่ติดบนขวดน้ำ) หรือการกำจัดวัชพืชที่อำเภอด้วยการลดการเผาทำลายเพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศเเละผลกระทบต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 โดยการนำไปทำปุ๋ยหมัก นำหลักการเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืชใช้จุลินทรีย์ให้เป็นประโยชน์นำองค์ความรู้ (Know-how) ที่มีอยู่แล้วมาใช้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม

ด้าน นายศุภชัย โพธิ์สุ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า บทบาทสำคัญของกระทรวงมหาดไทย คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า ซึ่งจากข้อมูลในระบบ ThaiQM จังหวัดนครพนมมีจำนวนผู้มีรายได้น้อยอยู่ในเกณฑ์สูง หากจังหวัดนครพนมพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาความยากจนรายครัวเรือน โดยใช้แนวคิด "เมืองนครพนมโมเดล" และขยายผลความสำเร็จไปยังพื้นที่อื่น ๆ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยบูรณาการหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับทราบเเละเห็นชอบในหลักการแล้ว และท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยจะได้มีหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเร่งรัดดำเนินการเเก้ไขปัญหาต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...