วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจปราบปรามสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมายของกรมปศุสัตว์รายงานผลการปฏิบัติงานการตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศตามมาตรการยกระดับการปราบปรามสินค้าปศุสัตว์เถื่อน โดยบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กรมประมง กรมวิชาการเกษตร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) หน่วยงานฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมศุลกากร กระทรวงกลาโหม ตำรวจตระเวนชายแดน
ทั้งนี้ ห้องเย็นที่เข้าตรวจสอบประกอบด้วย 1.ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ (ตรซ.4) 2.ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม 3.ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายใน 4.ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง 5.ห้องเย็นที่ไม่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานใดเลย
ผลการดำเนินงานจนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 กรมปศุสัตว์เข้าตรวจสอบห้องเย็นรวม 2,117 แห่ง อายัดสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมายจำนวน 2,155,448 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 257,127,745 บาท ดังนี้ 1.ซากโค – กระบือ จำนวน 404,315 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 95,973,590 บาท 2.ซากสัตว์ปีก จำนวน 1,190,328 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 86,563,929 บาท 3.ซากสุกร 560,805 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 74,590,226 บาท
คดีส่วนใหญ่เป็นคดีลักลอบสินค้าปศุสัตว์ภายในประเทศเนื่องจากกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินยุทธการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์สู่ราชอาณาจักรไทยอย่างเข้มงวด ส่วนผลการตรวจสอบห้องเย็นตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม-16 พฤศจิกายน 2566 ที่พบสินค้าปศุสัตว์ที่คาดว่า ลักลอบนำเข้าทั้งหมด13 คดี อายัดสินค้าไว้รวม 590,138 กิโลกรัม แบ่งเป็น 1.ซากโค-กระบือ 227,841 กิโลกรัม 2.ซากสุกร 314,061 กิโลกรัม 3.ซากสัตว์ปีก 48,236 กิโลกรัม
โดยเป็นความผิดตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 ไม่มีใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก นำผ่าน ราชอาณาจักรมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีโทษตามมาตรา 68 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ จะส่งหนังสือถึงกรมศุลกากร กรมการค้าภายใน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหน่วยงานดังกล่าวจะได้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป