นายอรรถพล สังขวาสี รักษาการเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาของ OECD ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะประเทศรับเชิญพิเศษ (Non-member Economy) ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สมัยที่ 34 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งการประชุมดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจที่สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยภายหลังการประชุม อาทิ เรื่องสมรรถนะหรือทักษะวิชาชีพ โอกาสของผู้เรียนในการเข้าถึงการพัฒนาทักษะหลังจากจบการศึกษา โอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาสมรรถนะด้านการสอนของครูในโลกที่เปลี่ยนแปลง และการพัฒนาเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งสามารถเทียบเคียงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยภายหลังการระบาดของไวรัสโคโรนา ได้แก่ ความจำเป็นในการทบทวนองค์ความรู้ ทฤษฎี รายวิชาที่ยังไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพให้สามารถประกอบอาชีพ มีทักษะการทำงานที่ใช้ได้จริงและมีทักษะการดำรงชีวิตให้อยู่ได้อย่างมีความสุข (Well Being) ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาครูให้เพียงพอและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า ทั้งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับองค์การโออีซีดีทางด้านนโยบายการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาของ OECD ในเดือนเมษายนและพฤศจิกายน การเข้าร่วมประชุม EDPC ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำและพัฒนานโยบายการศึกษาของประเทศในระดับต่าง ๆ ให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและแข่งขันได้กับนานาชาติ รวมถึงกำหนดทิศทางตามแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาในอนาคต ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะดำเนินการศึกษาประเด็นเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของโออีซีดี เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำเสนอเชิงนโยบายทางการศึกษาของประเทศไทย ทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาของโออีซีดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Country Program: CP) ต่อไป