นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) เป็นประธานการประชุมมอบแนวทางปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยระบบ ThaiQM กระทรวงมหาดไทย ปี 2567 ครั้งที่ 1/266 โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด นายอำเภอ นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมประชุมผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยระบบ ThaiQM นั้น ในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้รับความร่วมมือที่ดีอย่างยิ่งจากท่านผู้ว่าฯ นายอำเภอ ที่ได้ช่วยกันนำภาคีเครือข่ายไปเคาะประตูบ้านพี่น้องประชาชน โดยสามารถเก็บข้อมูลจากครัวเรือนได้มากถึง 14,562,655 ล้านครัวเรือน ซึ่งพบครัวเรือนที่มีปัญหา 3,810,466 ครัวเรือน โดยได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 3,614,409 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 94.85 ทั้งนี้ จะมีครัวเรือนที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา 196,057 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 5.15 ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญยิ่งที่เราจะต้องคิดหาแนวทางแก้ไขให้ได้ เพื่อให้ปัญหาหมดสิ้นไป
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า การสำรวจปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในปีที่ผ่านมานั้น เราพบว่าสิ่งหนึ่งที่เราอาจตกหล่นไปนั่นคือ อีกประมาณ 6 ล้านกว่าครัวเรือน ที่อยู่ในเขตของเทศบาลเมืองและเทศบาลนครไม่ได้ถูกทำการสำรวจ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยยึดหลักว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind)” จึงจำเป็นต้องสำรวจครัวเรือนในเขตเทศบาลทุกแห่ง เพื่อที่จะได้รู้ปัญหาอย่างครบถ้วน โดยเรามีความคิดในเบื้องต้นว่า ถึงแม้จะเป็นสังคมเมืองก็จริง แต่ปัญหาก็อาจจะมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบ ลูกหลานไม่ได้รับการศึกษา หรือแม้กระทั่งปัญหาการมีส้วมแต่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะกระทบต่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน จะต้องได้รับการแก้ไข
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า แนวทางปฏิบัติที่สำคัญต่อมา คือการ Re X-ray ครัวเรือน ที่เคยได้รับการสำรวจ และครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนใหม่หรือครัวเรือนที่ตกหล่นไป ซึ่งครัวเรือนเหล่านี้เราจะพบจากสื่อ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ซึ่งเมื่อเราได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วพบว่า ครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนใหม่หรือบางครัวเรือนเป็นครัวเรือนที่ตกหล่นไปจากการสำรวจ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญอย่างยิ่งที่ต้อง Re X-ray อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้การสำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ขอให้ท่านนายอำเภอ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษา คณะกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ทั้งจังหวัด อำเภอ และตำบล เผื่อในกรณีที่มีการโยกย้ายหรือต้องการสับเปลี่ยนบุคคล เพื่อให้การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่ของท่านผู้ว่าฯ ท่านนายอำเภอ ที่จะต้องร่วมประชุมพูดคุย ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการที่จะวิเคราะห์และหารือร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ในลักษณะของการแก้ไขปัญหาในรูปแบบชี้เป้าหรือพุ่งเป้า
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการสำรวจครัวเรือนในครั้งใหม่นี้ จะมีแบบฟอร์มการสอบถามใหม่ในระบบ ThaiQM เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะมีคำถามที่เพิ่มเติมขึ้นมาเล็กน้อย อาทิ เรื่องเด็กกำพร้าในครัวเรือน หรือคำถามการมีผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเราพบว่าในหลายภูมิภาคมีปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมากขึ้น เราจึงใช้โอกาสนี้ในการสำรวจเพิ่มเติมด้วย อีกส่วนหนึ่งที่เป็นนโยบายสำคัญของท่านรองนายกฯ และรมว.มหาดไทยในเรื่องของน้ำดื่ม ก็จะมีคำถามเพิ่มเติม อาทิ การมีน้ำดื่มสำหรับการบริโภคในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์เพียงพอหรือไม่ สำหรับการสำรวจในเขตเทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ซึ่งจากปัญหาที่เราได้ตั้งสมมติฐานไว้เบื้องต้น คือบางครั้งในพื้นที่สังคมเมือง ที่เป็นนิติบุคคล ที่เป็นคอนโด และหมู่บ้านจัดสรร ทำให้การสำรวจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เราก็อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้เก็บแบบสำรวจว่า ตัวผู้ให้ข้อมูลไม่สะดวกให้ข้อมูลหรือว่าไม่สามารถเก็บข้อมูลในพื้นที่ดังกล่าวได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในการสำรวจข้อมูล และรายงานข้อมูลได้ครบถ้วน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในขณะนี้ได้ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ม.ค.67 เพื่อให้ทันต่อการประชาคมแผนในระดับชุมชน/หมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ได้จากการ Re X-ray ในครั้งนี้เข้าสู่เวทีประชาคมแผนในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ถูกบรรจุไว้ในแผน เพราะอาจมีปัญหาในบางข้อ บางประการ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับพื้นที่ ได้มีการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาอำเภอและจังหวัดนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป และเพื่อให้การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ตามความตั้งใจของท่านรองนายกฯ และรมว.มหาดไทยในการทำให้พี่น้องประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุข ก็อยากจะขอให้พวกเราชาวมหาดไทยเป็นผู้นำในการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะเป็นคณะทำงาน เป็นคณะกรรมการ ที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจนในปีนี้ให้สำเร็จ ช่วยกัน Change for Good สร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย เป็นการปฏิบัติบูชาในการที่จะร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษาในวันที่ 28 ก.ค.67 ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่กำหนดไว้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ม.ค.67 หมายความว่าเราจะมีเวลาอย่างเต็มที่ในการที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนของเราในปีมหามงคล ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีความยั่งยืนในทุกมิติ