อ.คลองใหญ่ จ.ตราด คนไทย เกาะกง ฝั่งชายแดนไทย กัมพูชา ยังคงสืบสานประเพณี วัฒนธรรม การตำข้าวเม่าแบบโบราณ ให้ลูกหลานได้ดู เนื่องจากปัจจุบันเริ่มเลือนหายไปจากสังคมไทย คุณป้าสมบูรณ์ วัย 61 ปี ชาวบ้าน ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ ผู้สืบทอดการตำข้าวเม่าแบบโบราณจากรุ่นสู่รุ่น ขั้นตอนแรกต้องไปเก็บเกี่ยวข้าวเหนียวก่อน ก่อนนํามานวดให้เรียบร้อยแล้วก่อไฟตั้งกะทะให้ร้อนคั่วให้เปลือกกระเทาะแล้วนํามาใส่ครกลงแขกตําให้เปลือกออกแล้วนํามาฝัดให้เปลือกออกให้หมดจนสะอาด แล้วเจอข้าวเม็ดลีบๆ สีนํ้าตาล เรียกว่า “ข้าวเม่า” เป็นผลผลิตจากการนำข้าวมาแปรรูป ส่วนมากทำมาจากข้าวเหนียวที่ปลูกแล้วตั้งท้องออกรวง ผ่านระยะน้ำนมมาประมาณ 1 สัปดาห์ ช่วงนั้นจะเรียกว่าข้าวกำลังเม่า เป็นเมล็ดข้าวที่เต็มเมล็ดยังไม่แก่จัด เมื่อนำไปผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ทั้งนวด คัด คั่ว ตำ และฝัด ก็จะได้เป็นข้าวเม่าสดหรือข้าวเม่าอ่อน กินแบบนุ่มๆ มีสีนํ้าตาลมีหลากหลายสี แต่ถ้าทำจากข้าวเปลือกแก่จะมีสีน้ำตาล หากเก็บไว้เกินหนึ่งหรือสองวันก็จะกินเปล่าๆ ไม่อร่อย ชาวบ้านมักนำไปทำอาหาร เช่น ข้าวเม่าคลุก, ข้าวเม่าบด, ข้าวเม่าทอด, ข้าวเม่าหมี่ ข้าวเม่าคลุกมะพร้าวหนังหมูอ่อนๆเป็นต้น
ความพิเศษของข้าวเม่าที่ทำให้กินอร่อยอยู่ตรงกลิ่นหอมและสีนํ้าตาล สีเขียวตามธรรมชาติ ยิ่งได้กินตอนเสร็จใหม่ๆ จะสัมผัสได้ถึงความนุ่มลิ้นอีกด้วย การทำข้าวเม่าของชาวบ้านเป็นเหมือนกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ของเชื้อสายไทยและคนไทยเกาะกง เพราะต้องร่วมแรงร่วมใจในการทำข้าวเม่า ทำไปกินไปอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ทั้งไทยและคนไทยเกาะกง ก็ยังมีประเพณีการทำข้าวเม่าเช่นเดียวกัน เรียกประเพณีนี้ว่า “ทิ่มข้าวเม่า” เป็นการสืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ให้สูญหาย
ประโยชน์ของเข้าวเม่า ความสีนํ้าตาลและสีเขียวของข้าวเม่าทำให้ผู้ที่รับประทานได้รับคลอโรฟิลล์เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และในข้าวเม่ายังมีคุณค่าทางสารอาหารอีกเพียบ มีรายงานกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในข้าวเม่า 100 กรัม มีเส้นใยอาหาร 0.6 กรัม โปรตีน 8.0 กรัม ไขมัน 1.8 กรัม แคลเซียม 14 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 236 มิลลิกรัม เหล็ก 2.7 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.22 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.04 มิลลิกรัม คุณประโยชน์มากมายขนาดนี้ถ้าได้กินเป็นอาหารเช้าแบบข้าวโอ้ตหรือกราโนลาของต่างชาติแล้วล่ะก็น่าจะได้รับคุณค่าทางสารอาหารอย่างเต็มที่ด้วย นี่คือภูมิปัญญาของชาวนาแบบโบราณของชาวไทย และคนไทยเกาะกง ยังมีอยู่ให้เห็นสืบสานวัฒนธรรมประเพณีกันให้เห็นในปัจจุบัน