จ.นครศรีธรรมราช 30 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นโกโก้ฮับเมืองไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ดันพื้นที่ภาคใต้ชูจังหวัดนครศรีธรรมราช สู่โกโก้ฮับ “นครศรีเมืองโกโก้” พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโกโก้ เตรียมผลักดันสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ โดยช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาพืช “โกโก้” ถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่และได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมี่ยม รวมถึงเทรนด์รักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโกโก้เพิ่มขึ้นอย่า ต่อเนื่องเพื่อรองรับโอกาสในอนาคต โดยจากข้อมูลปี 2565 ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ไปตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 69.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 64.32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมี ญี่ปุ่น อาเซียน และเกาหลีใต้เป็นตลาดหลักส่งออกที่สำคัญ
สำหรับประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านพื้นที่สามารถปลูกโกโก้ได้ทุกภาค โดยที่น่าจับตามอง คือ ภาคตะวันออกในพื้นทีจังหวัดสระแก้ว ที่มีพื้นที่การปลูกโกโก้และเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมุ่งเน้น การตั้งโรงงานแปรรูปโกโก้ขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนให้มีการปลูกโกโก้ให้มากขึ้น รวมถึงภาคใต้ในพื้นที่ จังหวัด นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกโกโก้มากกว่า 1,600 ไร่ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยปัจจุบันมีเกษตรกร ที่ปลูกโกโก้ทั้งสิ้นกว่า 3,000 ครัวเรือน ถือว่าได้เป็นแหล่งผลิตโกโก้คุณภาพดีของไทย การันตีด้วยรางวัลระดับโลก อย่างแบรนด์ “ภราดัย” คว้ารางวัลพิเศษระดับทองสำหรับช็อกโกแลตบาร์ 75 เปอร์เซ็นต์จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเภท Bean to Bar หรือ ช็อกโกแลตที่ผู้ผลิตมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้นำร่องการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สู่โกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ภายใต้ชื่อ “นครศรีเมืองโกโก้” เพื่อเป็นศูนย์กลางรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโกโก้ในไทย อีกทั้งเป็นแหล่งความรู้และลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีศักยภาพขีดความสามารถในการส่งออกสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สำรวจความต้องการและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ โดยการจัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม (Focus group) รวมทั้งศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมอย่างเป็นระบบและให้มีการปลูกเป็นพื้นที่เฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด การพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ครบวงจร ตั้งแต่ทะเบียนสายพันธุ์ เนื้อที่ จํานวนเกษตรกร บริษัทที่รับซื้อ/โรงงาน การนําเข้าและส่งออก รวมถึงเป็นข้อมูลให้เกษตรกรและเอกชนใช้วางแผนและตัดสินใจด้านการผลิต การตลาด การลงทุน ส่งเสริมองค์ความรู้ การใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ สายพันธุ์ที่เหมาะสม และการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการสร้างเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นถิ่น (Single Origin) ช่วยสร้างจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มของโกโก้ให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และส่งเสริมตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพัฒนา
ผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตโดยการนำทุกส่วนของโกโก้มาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด อาทิ เมล็ดโกโก้ใช้ทช็อกโกแลตและผงโกโก้ เปลือกใช้เป็นภาชนะใส่ขนม ไอศกรีม เชื้อเพลิงชีวภาพ และปุ๋ย อีกทั้งยังสามารถต่อยอดเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ไขมันโกโก้ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง เปลือกหุ้มเมล็ดใช้เป็นชา และสีย้อมผ้า พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อให้โกโก้ไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมโกโก้ให้เป็นหนึ่งในพืชแห่งอนาคต (Future Crop) และยกระดับสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท
อีกหนึ่งผลสำเร็จจากการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการรวมกลุ่มแลเชื่อมโยงอุตสาหกรรมโกโก้ (คลัสเตอร์โกโก้) ประกอบด้วย ร้านวันมอร์ไทยคราฟช็อกโกแลต วิสาหกิจชุมชนโกโก้สวนลุงเล็ก วิสาหกิจชุมชนโกโก้พรีเมี่ยมท่าศาลา วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่โกโก้ท่าศาลา วิสาหกิจชุมชนโกโก้ทุ่งสง โรสโกโก้การ์เด็น ท่าหลาโกโก้ โกโก้นิ และกลุ่มผู้ประกอบการโกโก้ ได้รวมกลุ่มสร้างความเข้มแข็งและนำไปสู่การยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาองค์ความรู้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการ
ในทุก ๆ มิติ รวมทั้งการสร้างมาตรฐานต่าง ๆ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจและเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการโกโก้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มและเครือข่ายในการพัฒนาธุรกิจและมีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากลและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย