มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีเสวนา “คึด นำ กัน” รวมพลังภาคีความร่วมมือทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มขจัดความยากจนฯ ระดับจังหวัดสกลนคร
วันนี้ (1 ธ.ค..66) เวลา 09.00 น. นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานเปิดการเสวนาและประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร และเวทีเสวนา ในหัวข้อ "คึด นำ กัน : พลังข้อมูล พลังความคิด ออกแบบชีวิตครัวเรือน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมสร้อยสุวรรณา อาคาร 10 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 80 คน ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กลุ่มชุมชนร่วมดำเนินงาน กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลแก้จน นักวิจัยระดับพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นักวิจัยระดับส่วนกลางจาก บพท. และนักวิจัยระดับเครือข่ายต่างจังหวัด
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีเสวนาครั้งนี้ เพื่อสื่อสาร สร้างการรับรู้และความเข้าใจในเป้าหมาย และหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือและบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดสกลนครอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ค้นหานิยามความยากจนเชิงพื้นที่ ลักษณะความยากจนเชิงพื้นที่ การจำแนกระดับความยากจนเชิงพื้นที่ และการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนเชิงพื้นที่ของจังหวัดสกลนคร พัฒนากรอบเกณฑ์ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายของการเลื่อนระดับสถานะทางสังคม (social mobility) และหลุดพ้นความยากของจังหวัดสกลนคร
“คึดนำกัน” แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกคือการเสนาในประเด็น สถานการณ์ความยากจนในพื้นที่ที่สำคัญ ประกอบด้วย ลักษณะหน้าตาคนจน การช่วยเหลือเกิดการเปลี่ยนแปลงและเลื่อนระดับทางสังคมมีวิธีประเมินอย่างไร มีผู้ร่วมเสนาทั้งหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และหน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ช่วงที่สองคือการระดมความคิดเห็นแบ่งกลุ่ม 3 พื้นที่ปฏิบัติการทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ
แพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดสกลนคร เป็นระบบและกลไกในการนำครัวเรือนยากจนออกจากความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เริ่มการวิจัยตั้งแต่ปี 2563 และในปี 2566 ทีมวิจัยนำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หัวหน้าโครงการ ได้ดำเนินการใน 2 พื้นที่เป็นอำเภอแก้จนที่มีเป้าหมายร่วมในการขจัดความยากจนทั้งอำเภอ ได้แก่ กุดบากโมเดลและอากาศอำนวยโมเดล เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ได้ปฏิบัติการดังนี้ 1)การสร้างกลไกความร่วมมือร่วมกับหน่วยงาน 2)การพัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้า 3)การพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า 4)สร้างโมเดลแก้จน และ 5)การเชื่อมโยงสู่ยุทธศาสตร์แก้จนแผนพัฒนาระดับจังหวัดและท้องถิ่น ที่ผ่านมาได้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหายากจนไปแล้ว 551 ครัวเรือน ได้แก่ ด้านพัฒนาอาชีพ 486 ครัวเรือน และส่งต่อหน่วยงานภาคีช่วยเหลือด้านสงเคราะห์ 65 คน ในปี 2566 มีเป้าหมายช่วยเหลืออย่างน้อย 700 ครัวเรือน
ภาพรวมความยากจนของจังหวัดสกลนคร ปี 2565 มีครัวเรือนยากจน จำนวน 1,210 ครัวเรือน จากพื้นที่ 3 อำเภอ คือ พื้นที่อำเภอกุดบาก พื้นที่ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม พื้นที่ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย รวมกับข้อมูลครัวเรือนยากจนที่เก็บตั้งแต่ปี 2563-2565 มีจำนวนครัวเรือนยากจนทั้งหมดในฐานข้อมูลจำนวน 11,844 ครัวเรือน สมาชิกในครัวเรือนจำนวน 43,753 คน จากการวิเคราะห์สภาวการณ์ความยากจนจังหวัดสกลนครภาพรวมตามทุนดำรงชีพอย่างยั่งยืน (Sustainable Livelihoods Framework : SLF) มีค่าเฉลี่ย 2.14 อยู่ในระดับอยู่ยาก (จากรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลทุนการดำรงชีพอย่างยั่งยืนจังหวัดสกลนคร ในระบบ PPAOS)
การแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทยดำเนินการมาต่อเนื่อง มีหลายโครงการหลายหน่วยงานให้ความช่วยเหลือสนับสนุน รวมถึงโครงการวิจัยในแพลตฟอร์มนี้ด้วย คำถามสำคัญที่ยังอธิบายด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence based) ไม่ได้คือ หนึ่งครัวเรือนยากจนที่ได้รับการช่วยเหลือมีการเปลี่ยนแปลง หรือจะก้าวข้ามจากฐานะความเป็นอยู่เดิมไปสู่ฐานะความเป็นอยู่ที่ดี จะใช้เกณฑ์การชี้วัดอะไร ทีมนักวิจัยได้เสนอนิยามความความยากจนจังหวัดสกลนคร 4 ระดับ ได้แก่ อยู่ลำบาก อยู่ยาก อยู่พอได้ และอยู่ดี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้
การรวมพลังภาคี “คึด นำ กัน” คาดหวังว่าข้อค้นพบตัวชี้วัดที่สำคัญในครั้งนี้ จะนำไปสู่การออกแบบยุทธศาสตร์ แผนการพัฒนา ตัวชี้วัด โครงการ/กิจกรรม เพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ที่มีเป้าหมายร่วมกันบนฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนเดียวกัน ด้วยการเพิ่มเสถียรภาพทุนดำรงชีพของครัวเรือนยากจน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกิดรูปธรรมขยายผลไปพื้นที่อื่นตามเป้าหมายการพัฒนาขจัดความยากจนภายในปี 2570