1 ธ.ค. 66 เวลา 13.00 น. ที่อาคารศูนย์ท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลแหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด กรมการโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตราด ร่วมบริษัทที่ปรึกษา และองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด จัดประชุมโครงการประเมินผลและติดตามผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 3 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตำบลแหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด
นายเกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอเมืองตราด เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประเมินผลและติดตามผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 3 โดยมีนางสาวอังคณา พรหมเกตุ นักวิเคราะห์ผังเมืองชำนาญการพิเศษ ได้รับมอบหมายจากโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตราด กล่าวรายงานถึงโครงการฯวัตถุประสงค์ โดยมีนางหฤทัย อยู่เกื้อ นายก อบต.แหลมกลัด พร้อม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลแหลมกลัด กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนชาวบ้านตำบลแหลมกลัดทุกหมู่บ้านเข้าร่วมกว่า 100 ราย โดยมีทีมวิทยากรผู้บรรยาย นายชัชชัย อภินันทิตยา วิศวกรโครงการบรรยาย
นางสาวอังคณา นักวิเคราะห์ผังเมืองชำนาญการพิเศษ กล่าวถึงโครงการฯว่า ที่ผ่านมา กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้ก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อป้องกันทรัพย์สินของประชาชนและของราชการมิให้คลื่นกัดเซาะจมลงในทะเล เพื่อป้องกัน แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง จึงได้ทำการการศึกษาสํารวจและประเมินผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพื้นที่ต่อเนื่อง(End Effect) หากมี และจัดทํารายงานการประเมินผลและติดตามผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในพื้นที่ศึกษาจํานวน 20 พื้นที่ เพื่อสรุปผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในพื้นที่ศึกษาทั้งในมิติของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและต่อสภาพสังคม เพื่อออกแบบรายละเอียด และก่อสร้างโครงการใน 2 พื้นที่ศึกษา สำหรับเป็นโครงการนำร่อง(Pijot Project) ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพื้นที่ต่อเนื่อง โดยประเมินประสิทธิภาพและจัดทำรายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณพื้นที่ต่อเนื่อง สำหรับเป็นแนวทางในการแก้ไขผลกระทบชายฝั่งให้ถูกต้องและเหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิต ชุมชนหรือสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางธรณีสัณฐาน และสภาพชายหาด ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการในพื้นที่ศึกษาและพื้นที่ข้างเคียง เพื่อชี้แจงสรุปผลการศึกษา ประเมินผลและติดตามผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในพื้นที่ศึกษา เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจากโครงการสร้างเขื่อน
เพื่อให้ผู้มีส่วนร่วมทุกระดับ โดยเฉพาะประชาชนในเขตพื้นที่ศึกษาได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องมีความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ และเพื่อให้การศึกษาและออกแบบการแก้ไขปัญหาผลผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลปัจจุบันถูกต้อง ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยสามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการในพื้นที่ศึกษาและพื้นที่ข้างเคียง โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของโครงการโดยเริ่มศึกษาโครงการในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 โดยว่าจ้างบริษัทกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จํากัด และบริษัท ซี แอนด์ แลนด์ คอร์ปอเรซั่น จํากัด ให้เป็นผู้ดําเนินการศึกษาต่อไป