วันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณโครงการภิบาล และคุ้มครอง สิทธิผู้สูงอายุ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ
นายคารม กล่าวว่า เพื่อให้รองรับสังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับสมบูรณ์ คือ มีผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งเพื่อสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุได้อยู่ในชุมชน (Ageing in Place) อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากสถิติจำนวนประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 ณ มิถุนายน 2566 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้สูงอายุทั้งหมด 4,053,610 คน คิดเป็นร้อยละ 18.64 และจากข้อมูลการคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3,188,077 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มติดสังคม จำนวน 3,089,474 คน (ร้อยละ 96.9) กลุ่มติดบ้าน จำนวน 84,945 คน (ร้อยละ 2.66) และกลุ่มติดเตียง จำนวน 13,658 คน (ร้อยละ 0.42) และมีแนวโน้มอยู่ลำพังคนเดียวและถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้น สมาชิกในครอบครัวมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพ จึงเป็นประเด็นท้าทายที่ประเทศไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยตระหนักถึงการสร้างกลไกในระดับพื้นที่ของการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน และการสร้างโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียมบนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ เป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและการสร้างระบบการดูแลและเฝ้าระวังทางสังคมผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ จึงได้จัดทำโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนและเป็นการพัฒนาศักยภาพผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รวมถึงเพื่อสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติทางด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนและลดภาระค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของประเทศ
2.กลุ่มเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 4,053,610 คน ประกอบด้วย ผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ พื้นที่ละ 2 คน จำนวน 322 พื้นที่
ผู้สูงอายุที่ได้รับคัดกรองสุขภาพ จำนวน 3,188,077 คน ได้แก่ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน กลุ่มติดเตียง
3 .พื้นที่ดำเนินการ
คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด ในพื้นที่ 322 อำเภอ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี
“งบประมาณรวมทั้งสิ้น 359,352,000 บาท (สามร้อยห้าสิบเก้าล้านสามแสนห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน) แบ่งเป็น งบดำเนินงาน 198,352,000 บาท ได้แก่ 1.ค่าจัดอบรม ค่าตอบแทนผู้บริบาล ค่าจัดกิจกรรม และค่าติดตามงาน
2.งบลงทุน 161,000,000 บาท ได้แก่ ค่าครุภัณฑ์หรืออุปกรณ์ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
โดยประโยชน์ผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รับการดูแลครอบคลุมในทุกมิติอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เป้าหมายแผนพัฒนาภาคกลุ่มจังหวัด ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ และลดภาระการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ส่งเสริมการมีรายได้ด้านเศรษฐกิจภายในชุมชน“ นายคารม กล่าว