สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 8 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดงาน สร้างสุขที่ปลายทาง “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” ณ โรงแรมเจริญโฮเต็ล อำเภอเมือง จ.อุดรธานี เพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ประชาชนเกิดการรับรู้เรื่องสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตฯ ตามมาตรา 12 พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และนำความรู้ไปสื่อสารส่งต่อ ตลอดจนทราบแนวการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต
นพ.ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 8 กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษหัวข้อ “วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง” ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยกำลังมีจำนวนผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่อาจรักษาให้หายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสภาพเช่นนี้ย่อมจะส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยของความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่ทำให้เกิดการยื้อความตาย หรือการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการพูดถึงศาสตร์ของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการเตรียมตัวเพื่อนำไปสู่การตายอย่างมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ที่กำลังมีแรงหนุนจากภาคการเมืองอย่าง นโยบายสถานชีวาภิบาล เป็นหนึ่งในรูปธรรมดีที่สุดที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับหลายงาน ไม่ว่าจะเป็น สธ. ในการจัดทำแนวทางต่างๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะจัดสรรเงินมาดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่บ้าน หรือสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ที่จะมาดูแลมาตรฐานของการจัดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีคุณภาพ เป็นต้น
“ทาง สช. เองก็ได้ริเริ่มผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่าสิบปี จนถึงปีนี้ที่น่าจะมีการลงมือทำกันอย่างจริงจังมากที่สุด แต่คำถามคือวันนี้เมื่อผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตเข้าไปที่โรงพยาบาลแต่ละแห่ง จะได้รับคำแนะนำที่เหมือนกันแล้วหรือยัง การพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยของเราใช่หลักการเดียวกันหรือไม่ นี่จึงเป็นสิ่งที่ทาง สธ. กำลังพยายามทำให้เกิดเป็นแนวทางเดียวกัน ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี มีคุณภาพ นำไปสู่การตายที่มีคุณภาพหรือที่ใช้คำว่า ตายดี ได้ทุกราย” นพ.ทวีรัชต์ กล่าว
นพ.ทวีรัชต์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเขตสุขภาพที่ 8 เองมีแนวทางที่คาดหวังจะให้เกิดขึ้นต่อไป เช่น ห้องเรียนในโรงพยาบาล เพื่ออบรมบุคลากร เจ้าหน้าที่ ในโรงพยาบาลที่อาจไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้เกิดหลักสูตรกิจกรรมการเรียนรู้ ที่สามารถกระจายความรู้ลงไปต่อใน 88 อำเภอของเขตได้ เป็นต้น
ขณะเดียวกันภายในงาน ยังมีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “เตรียมความพร้อมรับมือกับการตายดีในระยะสุดท้ายของชีวิต” โดย พญ.สุพรรณี สุดสา นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลอุดรธานี และประธาน Service plan สาขาการดูแลผู้ป่วยระยะเปลี่ยนผ่านผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลันและการดูแลแบบประคับประคอง เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวว่า ปัจจุบัน สธ. ได้สนับสนุนให้มีศูนย์การดูแลแบบประคับประคองอยู่ในทุกโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามศูนย์นี้ก็ถือว่าเป็นปลายทาง เพราะหากผู้ป่วยไม่เป็นฝ่ายเดินเข้ามา หรือแพทย์ไม่ได้ส่งผู้ป่วยเข้ามาหา ก็ไม่อาจทราบได้ว่าผู้ป่วยที่ต้องการให้ช่วยเหลือด้านนี้อยู่ตรงไหนบ้าง
พญ.สุพรรณี กล่าวว่า สำหรับ รพ.อุดรธานี จะมีแพทย์ที่เข้าไปให้ความเข้าใจกับผู้ป่วยในแผนกต่างๆ เช่น แพทย์ที่รักษาโรคมะเร็ง ก็จะติดตามและแจ้งอาการให้ผู้ป่วยรับทราบเป็นระยะ หากมองว่าการรักษานั้นไปต่อไม่ได้ ก็จะส่งผู้ป่วยเข้ามาที่แผนกการดูแลประคับประคอง ซึ่งจะมีหน้าที่เข้าไปคุยกับผู้ป่วยและญาติให้เข้าใจว่าการดูแลประคับประคองเป็นอย่างไร จะมีการทำอะไรให้บ้าง รวมทั้งให้ผู้ป่วยและญาติได้รับทราบถึงความเป็นจริงว่าโรคนั้นกำลังดำเนินไปอย่างไร
“อยากให้คนไข้หรือญาติที่มีความต้องการ อยากปรึกษา สามารถเข้าไปหาทีมดูแลประคับประคองได้ที่โรงพยาบาล หรือในชุมชนหมู่บ้านตาม รพ.สต. ก็สามารถช่วยประสานได้ เพื่อที่จะได้มาทำความเข้าใจร่วมกัน หรืออย่างน้อยก็พูดคุยเพื่อลดความกังวล ให้เขาสบายใจมากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการดูแลแบบประคับประคอง คือจะหยุดรักษา ไม่ทำอะไรแล้ว หากแต่ความเป็นจริงเราจะยังรักษาอยู่ เพียงแต่เป้าหมายจะเปลี่ยนไปจากการรักษาเพื่อให้หายขาด แต่เป็นการรักษาเพื่อดูแลคนไข้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น” พญ.สุพรรณี กล่าว
ขณะที่ นางจันทิวา วงศ์อารีย์ ตัวแทนผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย กล่าวว่า ตนต้องเผชิญประสบการณ์การเตรียมตัวตายดีของสามีที่เป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ซึ่งในช่วงเวลานั้นเปรียบเป็นคำพิพากษาที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติเป็นทุกข์ ท้อแท้สิ้นหวัง แต่สุดท้ายก็ได้รับแรงบันดาลใจจากแพทย์ พยาบาล รวมถึงทีมงานการดูแลประคับประคอง ที่ช่วยให้คำแนะนำ ความรู้ และให้ความมั่นใจ คอยลงไปเยี่ยมที่บ้าน หรือหากมีปัญหาอะไรก็สามารถติดต่อได้เสมอ ทำให้ครอบครัวไม่รู้สึกเดียวดาย เกิดความอบอุ่นและสบายใจมากขึ้น
นางจันทิวา กล่าวว่า ภายหลังสามีมีความเข้าใจและรับรู้แล้ว ต่อมาจึงเกิดการวางแผนและเตรียมตัว โดยมีการแสดงเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจะไม่ขอยื้อชีวิต ไม่ต้องการเจาะคอ ใส่ท่อช่วยหายใจ ฯลฯ แต่ขอจากไปอย่างเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นยังตามมาด้วยการจัดการทางธุรกรรมต่างๆ ตลอดจนวางแผนการจัดงานศพ ซึ่งเชื่อว่าความเข้มแข็งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากความศรัทธาที่มีต่อแพทย์และทีมงานของ รพ.อุดรธานี ที่คอยอยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจ พร้อมให้ความรู้อยู่ตลอด
“ทุกอย่างอยู่ที่การทำใจ ถ้าเราทำใจไม่ได้ก็จะยากยิ่งกว่านี้ ต้องรับรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ขณะเดียวกันเวลาเรามีปัญหาทางอารมณ์ เหนื่อย ท้อแท้ สิ้นหวัง ก็จะต้องคอยดึงสติกัน และสิ่งสำคัญคือคนดูแลที่เฝ้าไข้เองก็ต้องการกำลังใจ เพราะเขาเองก็ต้องรู้สึกล้าและสิ้นหวัง แต่เมื่อเรามีทีมหมอที่คอยช่วย ได้รับความหวังและกำลังใจ มีความรักความเมตตาจากคนรอบข้าง เชื่อว่ายังไงเราก็จะผ่านมันไปได้” นางจันทิวา กล่าว
ด้าน พระครูสุทธิปัญญาวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดนายุง (ธรรมยุต) และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ กล่าวว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นล้วนเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่ว่าใครก็ไม่มีทางหนีพ้น แต่การที่จะตายดีได้นั้นเป็นอย่างไร คำตอบสำคัญคือต้องมีจิตใจที่ดี ดังโบราณว่า ‘ใจร้ายเป็นผี ใจดีเป็นคน ใจกังวลเป็นบ้า ใจกล้าเป็นนักรบ ใจสงบเป็นนักปราชญ์ ใจฉลาดเป็นนิพพาน’ ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจึงขึ้นอยู่ที่จิตใจเป็นใหญ่ หากบางคนป่วยกายแล้ว จิตใจยังป่วยอีก อาการป่วยก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ
“เราจะเลือกตายดีหรือตายไม่ดี เราสว่างมาแล้วจะสว่างไป หรือมืดมาแล้วมืดไป สิ่งเหล่านี้อยู่ที่ทุกคนจะต้องเตรียมตัวก่อนตาย ซึ่งถามว่าเตรียมอย่างไร เราก็ต้องหมั่นทำบุญบ่อยๆ ปลดปล่อยห่วงทั้งหลาย นึกถึงพระไตร ยึดมั่นในพระพุทธคุณ โดยบุญเป็นสิ่งที่ต้องสะสมไว้ จะมาเอาในระยะสุดท้ายแล้วคงไม่ได้” พระครูสุทธิปัญญาวัฒน์