ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
มหาวิทยาลัยกำลังจะตาย ปริญญาการันตีความสำเร็จไม่ได้?
08 ธ.ค. 2566

          “ปริญญา” สำคัญแค่ไหน? 10 ปีที่แล้วเราคงตอบคำถามนี้ได้ทันทีว่า การเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นใบเบิกทางสำคัญต่ออาชีพการงานในอนาคต โดยเฉพาะค่าตอบแทนสำหรับคนหนุ่มสาววุฒิปริญญาตรีที่กลายเป็นแรงจูงใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองผลักดันลูกหลานเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษาได้สำเร็จเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “White-collar worker” หรือ “คนงานคอปกขาว” ยิ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยยิ่งทำให้เห็นชัดมากขึ้นว่า คนทำงานออฟฟิศวุฒิปริญญาตรีมีเปอร์เซ็นต์ “ตกงาน” น้อยกว่า “Blue-collar worker” หรือ “คนงานคอปกน้ำเงิน” ที่ใช้กำลังแรงกายในการทำงานเป็นหลัก

       แต่เหตุผลและคำอธิบายทั้งหมดที่ว่ามาคงใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันอีกแล้ว เมื่อเราพบข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักข่าว “เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส” (The New York Times) ที่มีการระบุถึงผลสำรวจความรู้สึกของชาวอเมริกันที่มีต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ คนหนุ่มสาวที่มองว่า วุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสำคัญลดลงจาก 71% ในปี 2009 เหลือเพียง 41% ในปี 2023

       ทั้งยังพบว่า เด็ก “เจน Z” กว่า 45% มองว่า เพียงวุฒิระดับมัธยมศึกษาตอนปลายก็สามารถเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเงินให้กับพวกเขาได้แล้ว

        ภาพความเปลี่ยนแปลงในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้เกิดแค่ในสังคมอเมริกันเท่านั้น แต่ยังพบอีกว่า ประเด็นว่าด้วยเรื่องอนาคตของมหาวิทยาลัยไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน คือจำนวนนักศึกษาหดตัวลง อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ อนาคตอันใกล้อาจกลายเป็นอาชีพที่อยู่บนความไม่มั่นคงเหมือนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยยุคก่อนๆ อีกแล้ว

         ปี 2551 คือช่วงที่สหรัฐต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ “วิกฤติซับไพรม์” ภาวะถดถอยครั้งนั้นทำให้ความมั่งคั่งของของผู้คนทั่วประเทศหายไป ทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่พลิกโฉมตลาดแรงงาน-สะเทือนภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งที่เคยเป็นแหล่งสร้างงานชั้นดีให้กับคนทำงานที่ไม่ได้มีวุฒิการศึกษาสูงนัก

          ทว่านับตั้งแต่นั้นมา “ใบปริญญา” กลับกลายเป็นสมบัติล้ำค่าในตลาดแรงงานอเมริกันทันที คนทำงานวุฒิการศึกษาสูงมีรายได้มากกว่าแรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษามากถึง 2 ใน 3 ของเงินเดือน วุฒิปริญญาตรีกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการเงิน ที่ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่า นี่คือใบเบิกทางที่จะนำไปสู่ชีวิตอันมั่งคั่งได้

         หนึ่งทศวรรษผ่านไปความรู้สึกของชาวอเมริกันที่มีต่อการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ผลสำรวจจาก “เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส” ระบุว่า พ่อแม่ผู้ปกครองกว่าครึ่งหนึ่งไม่ต้องการให้ลูกๆ เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างแคนาดา ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ รวมถึงคู่แข่งรายเล็กลงมา อาทิ เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ กลับมีอัตราการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉลี่ยสูงกว่า ซึ่งก็พบว่า หลายประเทศที่กล่าวมามีอัตราค่าเล่าเรียนที่ไม่สูงมากนัก หลายประเทศมีนโยบายเรียนฟรีในระดับมหาวิทยาลัย ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่

          ขณะที่สหรัฐเคยมีการดำเนินนโยบายที่คล้ายคลึงกันในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาแต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว ทำให้การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยกลายเป็นปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนมากขึ้น

          ใบปริญญาการันตีความมั่นคงทางการเงิน ทางอาชีพ การันตีความสำเร็จให้กับชีวิตได้มากแค่ไหน? แตกต่างจากวุฒิการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายอย่างไร นี่คือคำถามที่นักวิจัยจากธนาคารกลางสหรัฐ (The Federal Reserve: FED) ร่วมกันหาคำตอบจากการตั้งโจทย์ว่า ความมั่งคั่งที่บัณฑิตวิทยาลัยสั่งสมไปตลอดชีวิตเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับความมั่งคั่งของผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมตอนปลาย

         นักวิจัยทั้งสามใช้ข้อมูลการสำรวจครอบครัวชาวอเมริกันหลายพันครัวเรือน วิเคราะห์ผ่านเกณฑ์เรื่องรายได้ ความมั่งคั่ง และผลประโยชน์ที่ได้รับจากรั้วมหาวิทยาลัย พวกเขาพบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่เกิดก่อนทศวรรษ 1980 มีฐานะร่ำรวยกว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย สะสมความมั่งคั่งได้มากกว่า 2-3 เท่า ทว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่เกิดหลังทศวรรษ 1980 กลับมีความมั่งคั่งมากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

          มากไปกว่านั้นยังพบอีกว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา มีความมั่งคั่งพอๆ กับคนจบระดับมัธยมปลายหรือปริญญาตรีด้วยซ้ำ ซึ่งผลลัพธ์นี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีแนวโน้มล้มเหลวจากการสะสมความมั่งคั่งเนื่องจากการลงทุนทางการเงินที่ผ่านมา

          “โลเวลล์ ริคเกตต์” (Lowell Ricketts) หนึ่งในทีมวิจัยระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ความมั่งคั่งเสื่อมถอยลงว่า มาจากค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้น บางคนอาจพ่วงมาด้วยหนี้ทางการศึกษา การก่อหนี้ทำสินทรัพย์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ผู้คน “ติดบ่วง” จนไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ได้ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้านหรือเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ ก็ตาม

          สถานการณ์ไทย: คนตายมากกว่าเกิด มหาวิทยาลัยไม่มีคนเรียน อาจารย์เสี่ยงตกงาน?

          ในขณะที่ “สหรัฐ” มีรากปัญหาจากพิษเศรษฐกิจเป็นหลัก ฝั่งไทยกลับมีจุดตั้งต้นที่อัตราภาวะเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate: TFR) ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีอัตราการตายมากกว่าการเกิด ตัวเลขจากสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ระบุว่า ปี 2564 มีการตายมากกว่าการเกิด 19,080 คน

         สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการระบุว่า โครงสร้างครัวเรือน “ไร้บุตรหลาน” มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2549 มีสัดส่วนของโครงสร้างดังกล่าว 26.1% และในปี 2561 โครงสร้างครอบครัวไร้บุตรหลานเพิ่มขึ้นเป็น 37.4% ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็พบว่า ครอบครัวไร้บุตรหลานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนด้วย

          สิ่งที่น่ากังวลมากไปกว่านั้น ก็คือลักษณะครอบครัวไทยที่ต่อไปจะยิ่งทวีคูณเป็น “สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน” ยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุรายได้น้อยที่ไม่มีเงินเก็บออมเพียงพอจะนำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเรื่องของสุขภาพจิตที่ต้องมีการเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด

         ภาพกว้างของลักษณะสังคมไทยที่กล่าวมานี้นำมาซึ่งเหตุและผลของสัดส่วนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่น้อยลงด้วย

           “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สมัยก่อนม.หอการค้าไทยรับนักศึกษาปีละ 7,000-8,000 คน แต่ในปี 2565 เหลือเพียง 4,500 คนเท่านั้น ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากค่าเฉลี่ยปกติ โดยมองว่า เกิดจากอัตราการเกิดที่น้อยลง อีกทั้งคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีค่านิยมเรื่องใบปริญญาเท่ากับคนรุ่นก่อน แต่ให้ความสำคัญไปที่ “Life-long learning” หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับตัวด้วย ไม่เช่นนั้นอาจต้องเผชิญกับการควบรวมมหาวิทยาลัย หรือปิดตัวลงในที่สุด

           ด้านแหล่งข่าวอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สังกัดขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงยังไม่น่าเป็นกังวลนัก แต่สำหรับมหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็กอาจต้องพบเจอกับสถานการณ์ไม่สู้ดีเท่าไร มหาวิทยาลัยเอกชนอาจมีการปรับตัวด้วยการลดจำนวนบุคลากรลง หรืออย่างที่เราเห็นกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ว่า บางมหาวิทยาลัยตัดสินใจปิดบางคณะลง เนื่องจากจำนวนนักศึกษาน้อยกว่ากำหนดและไม่ได้รับควานนิยมเท่าแต่ก่อน

           นอกจากนี้ อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เคยถูกมองว่า เป็นอาชีพที่มั่นคงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เพราะหลังจากมีการปฏิรูประบบการจ้างงานในมหาวิทยาลัยสถานะของอาจารย์ก็ถูกลดทอนลงจาก “ข้าราชการ” เป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” สวัสดิการที่เคยได้รับก็ไม่เหมือนกัน สถานะข้าราชการเป็นการจ้างงานถึงอายุ 60 ปี แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคนี้มีเงื่อนไขแตกต่างกันอาจต่อสัญญากันทุก 5 ปี 10 ปี หรือแย่ไปกว่านั้นคือต่อสัญญากันแบบ “ปีต่อปี” ก็มีให้เห็นแล้ว

         ในสถานการณ์ “ลูกผีลูกคน” เช่นนี้สิ่งที่มหาวิทยาลัยเอกชนเริ่มปรับตัว คือการเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กับเทรนด์มากขึ้น อาทิ สาขาวิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย สาขาวิชาการจัดการธุรกิจซาลอน สาขาวิชาการจัดการประชุม นิทรรศการ และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เป็นต้น ทั้งยังให้อิสระเด็กๆ ในการเลือกวิชาเรียนได้เต็มที่ เปิดโอกาสให้ลงมือทำมากกว่าการเรียนจากตำราอย่างเดียว เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นมากกว่าห้องเรียนที่ปัจจุบันวิชาความรู้หลายอย่างเด็กรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้นอกห้องได้เอง

          ฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้มหาวิทยาลัยแตกต่างจากการเรียนการสอนนอกชั้นเรียนได้คืออะไร มหาวิทยาลัยต้องเร่งตีโจทย์ให้แตกเพื่อปรับตัวให้สอดคล้องไปกับยุคสมัยที่ทุกอย่างมาไวไปไวเช่นนี้ให้ได้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...