ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดพระประโทนเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พระวชิรญาณวิศิษฏ์ (สุริยันต์ โฆสปญฺโญ) วัดป่าวังน้ำเย็น จังหวัดมหาสารคาม ประธานเททองหล่อรูปเหมือนยายหอมอุ้มพระยาพาน โดยมีพระศรีธีรวงศ์ เจ้าคณะอำเภอดอนตูม เจ้าอาวาสวัดพระประโทนเจดีย์ ประธานดำเนินการในพิธี พร้อมด้วย พระสงฆ์สมณศักดิ์ นั่งปรกอธิฐานจิต นายประสิทธิชัย นางวนาลัย รุ่งกิจสวัสดิ์ ประธานฝ่ายฆารวาส และประชาชนชาวนครปฐมร่วมพิธีเททองหล่อยายหอมขนาดหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว เพื่อนำมาประดิษฐานวัดพระประโทนเจดีย์ปัจจัยได้จากการทำบุญ เพื่อสมทบทุนบูรณปฎิสังขรณ์ พระวิหารหลวงพ่อโตให้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ โดยประวัติตำนานยายหอม พระยากง พระยาพาน เป็นตำนานประจำถิ่นจังหวัดนครปฐม จากชะตากรรมพระยาพานเกิดมา ตามคำทำนายโหรในอนาคตพระโอรสองค์นี้ จะทำ “ปิตุฆาต”ฆ่าพระบิดาของตนเอง พระยากงเกิดปริวิตกในคำทำนาย จึงมีคำสั่งให้เอาพระกุมารไปฆ่าเสีย ฝ่ายอัครมเหสีได้ติดสินบนเพชฌฆาตให้ฆ่าเด็กทารกอื่นแทน แล้วให้นำพระโอรสของนางไปให้ “ยายหอม”หญิงชาวบ้านผู้มีอาชีพเลี้ยงเป็ดเป็นคนเลี้ยงดูด้วยความรักทะนุถนอม
จนกระทั่งพระยาพานเติบใหญ่ยายหอมจึงได้เอาพระยาพาน ไปให้พระยาราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม จนได้ขึ้นเป็นอุปราชเมืองราชบุรี ครั้งหนึ่งเมืองราชบุรีเกิดฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวยากหมากแพง ประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีเครื่องราชบรรณาการให้กับเจ้าเมืองนครชัยศรี ฝ่ายพระยากงเจ้าเมืองนครชัยศรีทราบดังนั้นก็พิโรธ สั่งยกทัพบุกตีเมืองราชบุรีที่แข็งขืนไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการ และทั้งคู่ได้กระทำยุทธหัตถีรบกันบนหลังช้าง พระยากงพลาดท่าเสียทีถูกพระยาพาน ฟันพระศอด้วยของ้าวขาดสิ้นพระชนม์บนหลังช้างศึกกลางสนามรบ ต่อมาทราบภายหลังว่าพระมเหสีพระยากงเป็นแม่แท้ๆของตน พระยาพานจึงโกรธยายหอมที่รู้เรื่องทั้งหมดแต่ไม่ยอมบอก จึงเป็นเหตุกระทำปิตุฆาตจับยายหอมฆ่าทิ้งเสีย คนทั้งปวงจึงเรียกพระยาพานทองว่า “พระยาพาล ด้วยเหตุฆ่าบิดากับยายหอมผู้มีพระคุณ พระยาพานเสียพระทัยที่พระองค์ได้ทำกรรมอันหนักหนาและใหญ่หลวงต่อผู้มีพระคุณถึงสองท่าน จึงสร้างพระเจดีย์สูงใหญ่เท่ากับนกเขาเหิน คือองค์พระปฐมเจดีย์ในปัจจุบันถวายเป็นพุทธบูชาเพื่ออุทิศบุญให้กับพระยากงพระบิดา แล้วสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์พระประโทนเจดีย์ อุทิศให้ยายหอม กรรมหนักนั้นจะได้เบาบางลงบ้าง ปัจจุบันที่วัดพระประโทนเจดีย์ มี “ศาลยายหอม” ที่อยู่ข้าง กันกับเจดีย์พระประโทณ ภายในศาลมีรูปปั้นยายหอมกับเด็ก และจะพบผู้คนที่ศรัทธานำตุ๊กตารูปปั้นเป็ดมาถวายเป็นจำนวนมาก
วีรวิชญ์ โรจนอัครพงศ์ ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครปฐม