จากกรณี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีรายงานผลการปฏิบัติงานการสำรวจสัตว์ป่าด้วยกล้อง camera trap ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (wcs) ประเทศไทย พบภาพถ่ายเสือโคร่ง ตัวใหม่ในพื้นที่บริเวณแม่น้ำเพชรบุรีตอนบน จุดที่บันทึกภาพเสือโคร่ง จำนวน 2 จุด ได้ภาพ จำนวน 3 ภาพ จากกล้อง 3 ตัว ถ่ายได้เมื่อวันที่ 18,19 และ 23 พฤศจิกายน 2566 เป็นเสือโคร่งเพศเมีย ซึ่งจากการตรวจสอบลาย ของผู้เชี่ยวชาญจาก WCS ยืนยันว่าไม่เคยถ่ายภาพได้มาก่อน เป็นคนละตัวกับเสือณเดชน์ (KKT-002M) พบครั้งแรกปี 2562 ถึง ปัจจุบัน กับ เสือญาญ่า (KKT-001F) พบครั้งแรกปี 2556 ถึงปี 2563 คาดว่าเสือโคร่งตัวใหม่ (KKT-003F) ดังกล่าว อาจเป็นเสือโคร่งที่ย้ายถิ่นมาจากป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี นั้น
ล่าสุดวันนี้ 18 ธ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3(บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า การพบลูกเสือโคร่งจากติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อติดตาม ประชากรเสือโคร่งระยะยาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ภายใต้โครงการ การกระจายของสัตว์ตระกูลแมวป่าในพื้นที่ทางทิศใต้ของผืนป่าตะวันตก (Wildcat Distribution in southern Western Forest Complex)โดยองค์การแพนเทอรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ,และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ นั้น
มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการติดตามประชากรเสือโคร่งที่เคยถูกบันทึกภาพได้ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องระยะยาวและเข้าใจถึงการเลือกใช้พื้นที่ การเคลื่อนที่ของเสือโคร่ง รวมถึงสถานภาพของเสือโคร่งแต่ละตัวและเหยื่อในพื้นที่และปัจจัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการอาศัยอยู่ของเสือโคร่ง
วิธีการสำรวจ จะเลือกติดตั้งกล้องในจุดที่มีการบันทึกภาพเสือโคร่งได้จากข้อมูลการติดตั้งกล้องแบบกริดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในปี 2563 และปี 2565 จากนั้นทำการติดตั้งกล้อง โดยการสำรวจครั้งนี้ได้ทำการติดกล้องในแต่ละกริดๆละ 2 ตัว เพื่อให้ได้ภาพ ลายด้านข้างของเสือโคร่งมาใช้ในการจำแนกระบุตัว
สำหรับวิธีการตั้งกล้องนั้นคือ ตั้งกล้องให้มีระยะห่างจากด่าน สัตว์ประมาณ 2-3 เมตร ระดับความสูงของกล้องตั้งให้สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 45-50 เซนติเมตร เชื่อมต่อกล้องเข้ากับโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบปฏิบัติการแอนดรอย ผ่านเทคโนโลยีการเชื่อต่อไร้สายบลูทูธ (Bluetooth) เพื่อตั้งค่าการทำงาน นำเข้าค่าพิกัด วันที่ และเวลา เข้าสู่กล้องเพื่อให้ข้อมูลพิกัดอยู่ในรายละเอียด ข้อมูลของภาพ และเพื่อเพิ่มความแม่นยำของตำแหน่งติดตั้งกล้อง
จากนั้นทำการบันทึกพิกัด วันเดือนปี เวลา และสภาพป่านำมาลองถ่ายภาพเพื่อตรวจสอบการทำงานของกล้อง (Test Shot) ตั้งกล้องทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 3 เดือน เมื่อครบกำหนด 3 เดือนแล้วจึงทำการเข้าพื้นที่เพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่และดาวน์โหลดข้อมูลจากกล้อง มาจำแนกชนิดสัตว์ป่าด้วยการใช้โปรแกรมการจัดการรูปภาพ (Camera Trap File Manager) จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลในขั้นตอนต่อไป โดยปัจจุบันจุดกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อติดตามประชากรเสือโคร่งระยะยาวถูกติดตั้งแล้วทั้งสิ้น 14 จุด
ผลจากติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติเพื่อติดตามประชากรเสือโคร่งระยะยาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยล้อ จุดตั้งกล้องดังกล่าวเริ่มทำการติดตั้ง ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน โดยสภาพพื้นที่เป็นด่านสัตว์ขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าดิบแล้ง และอยู่ธารน้ำขนาดใหญ่ และจากการตรวจสอบขอมูลจากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ พบว่าเสือโคร่งถูกถ่ายภาพได้ จำนวน 3 ตัว โดยเป็นเพศเมียโตเต็มวัย 1 ตัว ซึ่งมีในฐานข้อมูลเสือโคร่ง รหัส TWT128F ซึ่งเป็นแม่เสือโคร่ง และลูกเสือจำนวน 2 ตัว (ให้รหัสไว้ว่า SLT_Unknown003 และ SLT_Unknown004)
ทั้งนี้ก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว เสือโคร่ง TWT128F ถูกถ่ายภาพได้ในเดือนสิงหาคม 2566 นอกจากนี้จุดตั้งกล้องดังกล่าวยังเคยถ่ายภาพเสือโคร่งโตเต็มวัยเพศผู้ รหัส HKT270M จำนวน 3 ห้วงเวลา เหตุการณ์นี้นับเป็นครั้งแรกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่มีภาพลูกเสือซึ่งถูกถ่ายภาพได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ และชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ทั้งในด้านความสมบูรณ์ของสัตว์เหยื่อ และสภาพพื้นที่ป่าที่เอื้อต่อการขยายพันธุ์ของเสือโคร่ง
Panthera กับงานสำรวจวิจัยสัตว์ตระกูลแมวป่า จากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ กว่า 420 จุด ใน 7 พื้นที่อนุรักษ์ของกลุ่มป่าทางทิศใต้ของผืนป่าตะวันตก (Southern Western Forest Complex: sWEFCOM) เพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่งและสัตว์ตระกูลแมวป่า รวมถึงสัตว์เหยื่อ
ประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ SWEFCOM มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสือโคร่งที่ถูกถ่ายภาพได้ครั้งแรกในพื้นที่นี้ นับเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในความพยายามที่จะส่งเสริมให้ผืนป่าแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งได้ในอนาคต สัตว์ตระกูลแมวป่า ที่ถูกสำรวจพบในพื้นที่ sWEFCOM มีทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ แมวลายหินอ่อน เสือไฟ และแมวดาว ”นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3(บ้านโป่ง) เผย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดี่ยวกันนายสมศักดิ์ ภู่เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ด้วยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ "Save wildlife for your life : รักษาธรรมชาติ ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย" ในวันเสาร์ที่ 23 ธ.ค.2566 เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี โดยในวันดังกล่าวได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี
เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าวไปสู่สาธารณชนทั่วไป จึงได้มีหนังสือไปถึง ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์, ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์,ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียง,บรรณาธิการข่าว,สำนักดิจิทัลแพลตฟอร์ม,เชิญเข้าร่วมทำข่าวในวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว อย่างพร้อมเพรียงกัน
///////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน