ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
สถ. จับมือสถาบันอาศรมศิลป์ และโรงเรียนรุ่งอรุณ สานต่อนโยบายรัฐบาล เร่งพัฒนาการศึกษาให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. ผสมผสานภูมิปัญญา และวัฒนธรรม มุ่งสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าแก่ประเทศชาติ
30 ต.ค. 2560

         เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2560 เวลา 9.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคณะเข้าหารือร่วมกับ นายธีรกุล นิยม รองอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ดร.อัญญมณี  บุญซื่อ ผู้อำนวยการหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต และคณะผู้บริหารสถาบันอาศรมศิลป์  และโรงเรียนรุ่งอรุณ ในการออกแบบในการพัฒนาเพื่อยกระดับการจัดการศึกษาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อผสมผสานภูมิปัญญา วัฒนธรรมในการจัดการเรียนการสอน และการจัดสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาและพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีคุณภาพ  เป็นที่เชื่อมั่นของผู้ปกครอง 

         นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า “การศึกษา” เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ เนื่องจาก ประเทศจำเป็นจะต้องอาศัยกำลังคนเป็นสำคัญ และกำลังคนที่ร่วมกันพัฒนาประเทศจะมีประสิทธิภาพ หรือมีศักยภาพเพียงใด ขึ้นอยู่กับมาตรฐานและคุณภาพในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐาน ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีความต้องการให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ มุ่งหวังให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีความพร้อมที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นต่อไป ให้เด็กสามารถเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในวันนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ริเริ่มโครงการ “ศูนย์เรียนรู้ภูมิสังคมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน (Local Geo – social Sustainability Learning Center : LGS Learning Center) ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับโรงเรียนรุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งได้มอบหมายให้ นายธีรกุล นิยม รองอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และ ดร.อัญญมณี บุญซื่อ ผู้อำนวยการหลักสูตรศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมหาแนวทาง และวางระบบของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้ได้รับการพัฒนาด้านการเรียนการสอน มีภูมิสังคมที่ยั่งยืนในชีวิตประจำวัน ทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ชีวภาพ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมและประเพณี ส่งเสริมให้เด็กมีเอกลักษณ์ เป็นพลเมืองของสังคมและชุมชนที่มีความพร้อมของทักษะพื้นฐาน และสุขภาวะทางกายและใจ มีวินัยในการกำกับตนภายใต้การเปลี่ยนแปลงของวิถีสังคมและวัฒนธรรม ทั้งยังได้รับการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน  และยกระดับมาตรฐานการศึกษาโดยใช้แนวทางการดำเนินการสนองตามหลัก “เทพรัตนปูชา” อันเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาครูตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พัฒนามาจากพระราชดำริ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” “ภูมิสังคมที่ยั่งยืน” และ “การระเบิดจากข้างใน” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ มีรูปแบบการขยายผลการพัฒนาแบบ “วงจรการเรียนรู้การประสานมือผสานใจแบบขดลวดสปริง” อันเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างผู้บริหาร หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครอง เด็ก และคนในชุมชน ใน 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านวิชาชีพครู ด้านการบริหารจัดการ ด้านการทำงานร่วมกับผู้ปกครองและชุมชนในการเลี้ยงและดูแลเด็ก  ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้บริหารท้องถิ่นให้เป็นผู้นำทางการศึกษา เป็นผู้นำทางการเรียนรู้ มีการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางตามเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค มีการบริหารจัดการทางด้านสุขภาวะ สุขอนามัยในกิจวัตรประจำวันและพัฒนาแนวทางการเลี้ยงดูเด็กทั้งที่บ้านและที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีการจัดสื่อการเรียนรู้ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามบริบทของเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น  รวมถึงให้มีการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก  โดยจะเริ่มการพัฒนาจากกลุ่ม Pilot Team หรือกลุ่มศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เข้มแข็งแล้ว ให้ขยายผลไปสู่กลุ่มศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในจังหวัดเดียวกัน โดยจะเริ่มการดำเนินการพร้อมๆ กันทั้ง 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ ภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญประจำแต่ละภูมิภาค แบ่งขั้นตอนการดำเนินการตามวงจรการพัฒนาตามรูปแบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาครูตามแนวพระราชดำริฯ 

         อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า กรมฯ มีภารกิจหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาเด็กและเยาวชน  ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนกว่า 19,000 แห่ง มีเด็กเล็กที่อายุ 2-5 ปี ที่อยู่ในความดูแล จำนวน กว่า 900,000 คน กรมฯ จึงตระหนักว่าวัยเด็กช่วงนี้ เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิต ประกอบกับผลสำรวจของหน่วยงานต่างๆ ที่ปรากฏว่า เด็กไทยมีระดับสติปัญญาที่ต่ำลง และกรมฯ ก็มั่นใจว่าสถาบันอาศรมศิลป์ และโรงเรียนรุ่งอรุณ จะ เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ได้ และที่สำคัญที่สุด คือเป็นผู้ที่มีความเสียสละ เพื่อส่วนรวม กรมฯ จึงได้มาหารือถึงแนวทาง เพื่อให้เด็กที่อยู่ภายใต้การดูแลการจัดการศึกษาของท้องถิ่นได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ จะผลักดันให้มีแนวทางในการเปิดรับดูแลเด็กเล็กตลอดทั้งปี เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาในทุกๆด้าน ทุกๆวัน อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ผู้ปกครองสามารถไว้วางใจเมื่อลูกหลานมาอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่นเรา ซึ่งจะขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการให้ความสำคัญ ตลอดจนให้กำลังใจ พบปะพูดคุย และเยี่ยมเยียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างสม่ำเสมอด้วย

         อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวในตอนท้ายว่า ถ้าทุกคนในสังคม ร่วมกันสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ให้สามารถแทรกตัวอยู่ในทุกพื้นที่ โดยในแต่ละพื้นที่ช่วยกันส่งเสริม ผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เข้าไปมีความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน พลังของการขับเคลื่อนเหล่านั้น จะสามารถเป็นแรงหนุนให้ชุมชน มีความเข้มแข็ง ขยายวงของการพัฒนาการศึกษาของชาติให้กว้างไกลได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 กรกฎาคม 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
02 ก.ค. 2568
ในปีนี้ถือเป็นมีมงคลอีก 1 ปี โดยเฉพาะการเปิดความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่เวียนมาครบรอบ 50 ปี ซึ่งแน่นนอ จีนถือเป็นมหาอำนาจหนึ่งของโลกที่ปัจจุบันมีความเจริญรุดหน้าไปอย่างรอบด้าน นั่นเพราะหนึ่ง จีน มีประชากร 1.4 พันล้านคน ที่เป็นตลาดใหญ่ของโลก ที่สำคัญความเจริญรุดหน้า...