‘ธรรมนัส’ โชว์ผลงาน “เกษตรฯ 99 วันทำได้จริง โดดเด่น ลุยปราบสินค้าเกษตรเถื่อน เปลี่ยนโฉนด ส.ป.ก. มุ่งเป้าเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ใน 4 ปี
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตร โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งกำหนดแนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมาย ได้กำหนดนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างครอบคลุม โดยมีผลการดำเนินงานในโครงการสำคัญ ระยะเวลา 99 วัน (ตั้งแต่ 1 กันยายน - 8 ธันวาคม 2566) ดังนี้
นโยบายแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้ เร่งเตรียมมาตรการรองรับภัยพิบัติ โรคระบาดพืช และสัตว์ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการน้ำในช่วงวิกฤติภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ 40,387 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 21,810 ล้านลบ.ม. โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร จำนวน 4,539 ราย จำนวนเงินช่วยเหลือ 25.630 ล้านบาท
ประกาศปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน ดำเนินการตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศ โดยบูรณาการร่วมกัน ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งหมด 107 จุด ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ สุรินทร์ สระแก้ว ตราด จันทบุรี ระยอง ระนอง กาญจนบุรี และสมุทรปราการ
สำหรับการตรวจสอบห้องเย็นด้านปศุสัตว์ 2,437 แห่ง และด้านประมง 2,062 แห่ง มีการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 จำนวน 159 ครั้ง ของกลางซากสัตว์ 4,573.25 ตัน มูลค่าของกลาง 472.29 ล้านบาท แบ่งเป็น
(1) สินค้าปศุสัตว์ลักลอบนำเข้า 18 ครั้ง ของกลางซากสัตว์ 1,151.05 ตัน มูลค่าของกลาง 159.11 ล้านบาท
(2) การกระทำผิดกฎหมายภายในประเทศ 141 ครั้ง ของกลางซากสัตว์ 3,422.20 ตัน มูลค่าของกลาง 313.18 ล้านบาท
ปราบปรามปัจจัยผลิตทางการเกษตรผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 34 ล้านบาท อาทิ ด่านท่าเรือกรุงเทพฯ การลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรผิดกฎหมาย จำนวน 208,000 ลิตร มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท จ.กาญจนบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและอายัดปุ๋ยผิดกฎหมาย (ปุ๋ยอินทรีย์ (ยางพารา) และปุ๋ยเคมี) จำนวน 614.75 ตัน มูลค่ากว่า 9 ล้านบาท และ จ.เชียงใหม่ จ.กาญจนบุรี และ กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ เข้าตรวจสอบและอายัดวัตถุอันตรายทางการเกษตรผิดกฎหมาย จำนวน 540.5 ลิตร และ 13.8 กิโลกรัม มูลค่า 554,300 บาท
ปราบปรามยางพาราผิดกฎหมาย 99 วัน ทำทันที โดยอายัดยางพาราต้องสงสัยผ่านพรมแดน 104 ตัน มูลค่า 5 ล้านบาท โดยทีมเฉพาะกิจร่วมกับหน่วยความมั่นคง ได้อายัดยางพาราที่ต้องสงสัยผ่านพรมแดน จ.กาญจนบุรี จำนวน 29 ตันมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท และ จ.ระนอง จำนวน 75 ตัน มูลค่ากว่า 3.75 ล้านบาท ทำให้ราคายางพารา มีแนวโน้มสูงขึ้น สร้างความเชื่อมั่น และเสถียรภาพให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
รวมทั้งจัดตั้งทีมเฉพาะกิจพญานาคราชเพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายและร่วมสนับสนุนภารกิจของสารวัตรปศุสัตว์และสารวัตรประมง พร้อมจัดตั้งทีมสายลับยางจากเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ สอดส่องการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย
จัดตั้งสารวัตรเกษตรไซเบอร์ ตรวจสอบ เฝ้าระวัง รับแจ้งเบาะแส และปราบปรามทางสื่อออนไลน์ การรวบรวมเอกสารเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรทำให้ได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และลดปัญหาการนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย
นโยบายสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิต
การสร้างและขยายโอกาส บริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกร โดยประกาศใช้ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2 ฉบับ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เพื่อยกระดับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร และมอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 จำนวน 9,820 ราย 11,060 แปลง เนื้อที่จำนวน 107,284 ไร่
การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สนับสนุนการขายคาร์บอนเครดิต และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร เป็นตัวแทนรัฐบาลในการเจรจาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
การสร้างรายได้ภาคเกษตร ตามนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของรัฐบาล โดยมุ่งลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/2567 จำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงิน 34,437 ล้านบาท
เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ ได้รับประโยชน์ 610,000 ราย โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2566/2567 วงเงิน 481.25 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย/แปรรูป 1 ล้านตันข้าวเปลือก สถาบันเกษตรกรได้รับประโยชน์ 3.033 ล้านครัวเรือน โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพ ผลผลิตข้าว ปีการผลิต 2566/2567 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 4.68 ล้านครัวเรือน ได้รับการสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท/ครัวเรือน ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
สำหรับงานสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งดำเนินการในระยะต่อไป จะยังคงมุ่งเน้นตามนโยบายอย่างครอบคลุม อีกมากกว่า 30 โครงการ แยกเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น เร่งเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งรวมถึงภัยพิบัติ ในโครงการประกันภัยภาคการเกษตร มุ่งสร้างรายได้ เสริมอาชีพระหว่างการพักหนี้ ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน โครงการพัฒนาสมรรถนะและยกระดับความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกรและบุคลากร รวมทั้งส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ และสนับสนุน BCG Economy Model
นโยบายระยะกลาง และระยะยาว“สร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิต” ได้แก่ การสร้างรายได้ภาคเกษตร มุ่งลดต้นทุน เพิ่มรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยดำเนินโครงการสร้างผู้ประกอบการเพื่อให้บริการทางการเกษตรอัจฉริยะ โครงการยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (ASP) โครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมง โครงการศูนย์แสดงสินค้าผลิตภัณฑ์เกษตรคุณภาพสูง เป็นต้น
การสร้างและขยายโอกาส ให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน โดยยกระดับ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า รวมถึงยกระดับห้องปฏิบัติการเพื่อให้บริการและตอบสนองต่องานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี บริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ในโครงการจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เร่งฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยทุกหน่วยงานจะยังคงเดินหน้าและบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตรไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี