ดร.สุนทร กุมรีจิตร เลขาธิการชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (20จังหวัด) ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารชมรมครูภาค เมื่อ 23 ธ.ค. 2566 ที่ห้องประชุมสพท. จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายพิพัฒน์ กาลพัฒน์ ประธานชมรมฯ เป็นประธานการประชุม
ที่ประชุมได้พิจารณายกร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับครูและประชาชน) และมีมติร่วมกันพร้อมล่าลายมือชื่อครูและประชาชน 20 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมกับองค์กรครู 4 ภูมิภาค อีสาน เหนือ กลางและใต้ รวม 1 หมื่นชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อเป็นกฎหมายการศึกษาของชาติต่อไป
สาระสำคัญในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ 1.เด็กไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสและความเสมอภาคได้ครูดีเหมือนกันทั้งประเทศ 2.เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ตามความถนัดและพรสววรรค์เพื่อสัมมาชีพ 3.รัฐต้องเป็นผู้จัดการศึกษาร่วมกับองค์กรท้องถิ่นและเอกชน 4.ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย รัฐธรรมนูญฯ 5.บุคคล ชุมชน สังคมรักสามัคคี เคารพรักในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้สรุปประเด็นสำคัญปัญหาของการบริหารจัดการศึกษาที่โรงเรียนประสบอยู่ ณ ปัจจุบัน 5 ประการ
1.การเดินหน้าของรัฐ ยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กต่ำกว่า 120 คน ทุกโรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของนักเรียน ผู้ปกครองด้านสิทธิและโอกาส ขององคาพยพสังคมชนบทไทยและพื้นที่ห่างไกล
2.ปัญหาสถานศึกษาเกือบทุกโรงเรียน (90 %) ไม่มีนักการภารโรง
3.ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมนำจนท.ธุรการของโรงเรียนไปไว้ที่สนง.เขต สร้างภาระและความเสี่ยงให้โรงเรียนมากขึ้น
4.ปัญหาหนี้สินครู ครูเป็นหนี้เพราะกู้ธนาคารและสหกรณ์ออมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 6 บาทเศษ รัฐควรปรับลดอกเบี้ย ลดความเดือดร้อนให้ครู
5.ปัญหาเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนไม่ได้ปรับเพิ่มมากว่า 20 ปีแล้ว คือ ปฐมวัยหัวละ 1,700 บาท ประถมศึกษา 1,900 บาท และ มัธยมต้น 3,500 บาท รัฐควรให้ความสำคัญปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนและการศึกษา.
//////
ณัฐธรชนม์ สิริโชติสกุล/ศรีสะเกษ
0816007969