นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปีเป็นช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัด เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ รวมทั้งประชาชนบางส่วนนิยมที่จะออกเดินทางไปท่องเที่ยวตามงานเทศกาล สถานบันเทิงและสถานบริการต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บ้านเรือนที่อยู่อาศัยจึงถูกทิ้งไว้ไม่มีผู้ดูแล ทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเหตุสาธารณภัยหรืออุบัติภัยเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ อาทิ ภัยจากการคมนาคม อาชญากรรม เหตุการณ์ความไม่สงบ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เนื่องจากมีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมากทำให้สถานที่จัดงานมีความแออัด อีกทั้งงานเทศกาลและสถานบันเทิงบางแห่งมีการจัดงานเฉลิมฉลอง จุดพลุ หรือดอกไม้เพลิง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศแห้งและแล้ง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้ง่าย ซึ่งอาจทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 32 และมาตรา 23 วรรคสอง (1) ขอความร่วมมือจากผู้จัดงานเทศกาลปีใหม่ สถานประกอบการสถานบันเทิง ประชาชน รวมถึงผู้ผลิต สะสม จำหน่ายผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอยในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมและกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ของกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2567 และจัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์กรุงเทพมหานคร (ศตส.กทม.) ในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ประจำปี 2567 จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับชุมชนที่มีความเสี่ยงหรือพื้นที่ล่อแหลมสูง โดยเฉพาะจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ จุดเสี่ยงอาชญากรรม ตรวจสอบตรวจตราสถานประกอบการ สถานบันเทิงที่มีการจัดงานหรือกิจกรรม เพื่อวางแผนออกแบบมาตรการจัดกิจกรรมอย่างปลอดภัย กำหนดรูปแบบและลักษณะการใช้ประโยชน์พื้นที่เส้นทางหรือจุดเข้าออกพื้นที่จัดงานอย่างเข้มงวด และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรตามสถานที่ต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาจัดงาน โดยประสานงานกับหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมเฝ้าระวังดูแลในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่นโดยใช้กล้อง CCTV รวมถึงการตรวจตราสถานประกอบการที่ผลิต สะสม และจำหน่ายดอกไม้เพลิง สำหรับสถานที่ซึ่งได้รับอนุญาตให้จำหน่ายดอกไม้เพลิงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การควบคุมและกำกับดูแลการค้าดอกไม้เพลิงตามประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการผลิต การค้าการครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตฤที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน
2.ขอความร่วมมือสถานประกอบการ สถานบันเทิง ผู้จัดงานและเจ้าของพื้นที่จัดงาน วางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ และแผนงานรองรับความปลอดภัย พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยทางกายภาพ หากพบจุดเสี่ยงอันตรายหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายให้ดำเนินการแก้ไขให้มีความปลอดภัยหรือประสานผู้รับผิดชอบดำเนินการทันที อาทิ ระบบป้องกันอัคคีภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ประตูทางเข้า-ออก ถังดับเพลิง ระบบสัญญาณเตือนภัย ระบบไฟฟ้าสำรอง ป้ายบอกเส้นทางหนีไฟต้องติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนไม่มีสิ่งกีดขวางตลอดเส้นทาง และสามารถเปิดออกสู่ภายนอกได้อย่างทันที ตลอดจนกำหนดเส้นทางเข้า-ออกที่ชัดเจน จำกัดจำนวนคนภายในงานให้สอดคล้องกับขนาดและสภาพพื้นที่จัดงาน เพื่อป้องกันความหนาแน่นแออัด และสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อต้องอพยพผู้ใช้บริการกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีเหตุเพลิงไหม้หรือเหตุสาธารถภัยอื่นๆ ให้แจ้งสายด่วน โทร. 199 ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง และให้ประสานงานกับสำนักงานเขตอย่างใกล้ชิด