ครม. มีมติเห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) ปี 2567
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (26 ธันวาคม 2566) มีมติเห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) ระยะเวลา 1 ปี โดยกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) ปี 2567 ทุกกรอบการค้าและจากประเทศนอกความตกลง ตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายอาหาร (คณะกรรมการฯ) พิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) ระยะเวลา 1 ปี เพื่อบริหารวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม โดยให้คงนโยบายและมาตรการนำเข้าเช่นเดียวกับปี 2564-2566 ทุกกรอบการค้าและจากประเทศนอกความตกลง
ทั้งนี้ นโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และปลาป่น) ปี 2567 มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
1.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พิกัดอัตราศุลกากร 1005.90.99 รหัสสถิติ 001 ดังนี้
1.1การนำเข้าภายใต้ WTO
ในโควตา อัตราภาษีร้อยละ 20 ปริมาณ 54,700 ตัน โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า
นอกโควตา อัตราภาษีร้อยละ 73 และค่าธรรมเนียมพิเศษตันละ 180 บาท ไม่จำกัดปริมาณ
1.2การนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อัตราภาษีร้อยละ 0 (ไม่จำกัดปริมาณ)
-ให้ อคส. เป็นผู้นำเข้า ไม่จำกัดช่วงเวลานำเข้า
-ผู้นำเข้าทั่วไป กำหนดช่วงเวลานำเข้าระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 สิงหาคม ของแต่ละปี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558
1.3การนำเข้าภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
ในโควตา ภาษีร้อยละ 0 ไม่จำกัดปริมาณ โดยต้องมีหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนตามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย สำหรับภาษีในโควตา เพื่อประกอบการนำเข้า
นอกโควตา ภาษีร้อยละ 65.70 ไม่จำกัดปริมาณ
1.4การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่นๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) อัตราภาษีร้อยละ 0 ไม่จำกัดปริมาณ]
1.5การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษีกิโลกรัมละ 2.75 บาท และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 1,000 บาท (ไม่จำกัดปริมาณ)
2.กากถั่วเหลือง พิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 2304.00.29 รหัสสถิติ 001 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า ดังนี้
2.1การนำเข้าภายใต้ WTO
ในโควตา อัตราภาษีร้อยละ 2 ผู้มีสิทธินำเข้าทั้งสิ้น 11 ราย หากมีผู้ยื่นขอมีสิทธินำเข้ารายใหม่ให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการนโยบายอาหารพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสม
นอกโควตา อัตราภาษีร้อยละ 119
2.2การนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่นๆ เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษีร้อยละ 0 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษีร้อยละ 0]
2.3การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง อัตราภาษีร้อยละ 6 และค่าธรรมเนียมพิศษ ตันละ 2,519 บาท
3.ปลาป่น โปรตีนต่ำกว่าร้อยละ 60 พิกัดอัตราศุลกากร 2301.20.10 ต้องขออนุญาตนำเข้า และปลาป่นโปรตีนร้อยละ 60 ขึ้นไป พิกัดอัตราศุลกากร 2301.20.20 ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า ดังนี้
3.1 การนำเข้าภายใต้ทุกกรอบการค้า เป็นไปตามข้อผูกพัน [เช่น ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษีร้อยละ 0 ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ภาษีร้อยละ 0]
3.2 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง ปลาป่น โปรตีนต่ำกว่าร้อยละ 60 อัตราภาษีร้อยละ 6 ปลาป่นโปรตีนร้อยละ 60 ขึ้นไป อัตราภาษีร้อยละ 15
ทั้งนี้ มอบกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร นำประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องกับอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืง พิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 2304.00.29 รหัส 001 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปี 2567 และ พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศ นำประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องตามมติคณะกรรมการฯ เสนอต่อ ครม. ในคราวเดียวกัน (ขณะนี้ กค. และ พณ. อยู่ระหว่างการร่างประกาศดังกล่าวจึงยังไม่ได้นำเสนอประกาศที่เกี่ยวข้องมาในคราวนี้)