อ.ต.ก. จับมือองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และเทศบาลเมืองพะเยา สร้างศูนย์กลางสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน เป็น HUB เพื่อกระจายสินค้าสู่ประเทศสมาชิกในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เปิดเผยภายภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรภาคเหนือ ระหว่าง องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และเทศบาลเมืองพะเยา โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกล่าวแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย นายอัครา พรหมเผ่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา นางสุมิตรา กัณฑมิตร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ อาคารสโมสรพนักงานเทศบาลเมืองพะเยา ต.เวียง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา
“จากนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร มุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยการมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คำนึงถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยเหลือเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ในการเจรจา การจำหน่าย การตลาดและการเก็บรักษาผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยบทบาทหน้าที่ที่กล่าวมาขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง มั่นคงและยั่งยืน”
พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงฯในวันนี้ เกิดขึ้นจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และเทศบาลเมืองพะเยา ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาสินค้าเกษตร ให้มีพื้นที่ ซื้อ - ขาย และเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือและได้รับความนิยมสูง โดยนำร่องจังหวัดพะเยา เพื่อผลักดันผลผลิตทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และจะช่วยลดต้นทุนด้านสินค้าด้าน Logistics ของเกษตรกร / ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่
จากการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจและเชิงพื้นที่ของจังหวัดพะเยาจะเห็นว่า ด้านการคมนาคม จังหวัดพะเยาสามารถสนับสนุนโอกาสแก่เกษตรกรในภาคเหนือ ส่งผลให้มีทิศทางการพัฒนาจังหวัดในพื้นที่ชายแดนในการเป็น HUB เพื่อกระจายสินค้า มีการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ (Ecotourism) และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์สู่เส้นทางด้านการค้า การลงทุนสู่ประเทศสมาชิกในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ด้านการเกษตร จังหวัดพะเยามีศักยภาพเชิงพื้นที่ที่เอื้อต่อการเกษตร โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ และพืชไร่ต่างๆ ซึ่งมีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ สามารถพัฒนาเป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อเป็นจุดเด่นและลดต้นทุนการผลิต ด้านการค้า การลงทุน สามารถเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจังหวัดพะเยามีอาณาเขตพรมแดนติดกับ สปป.ลาว หากเปิดจุดผ่านแดนได้สำเร็จ จะส่งผลในการยกระดับการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น มีพื้นที่เหมาะสมเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างภูมิภาค ทั้งกลุ่มอาเซียนและจังหวัดต่างๆ