ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการลาดตระเวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หมู่ 4 บ้านหนองหอย ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ร่วมประชุมวางแผนการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการป่าไม้และสัตว์ในเขตรับผิดชอบในช่วเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 เนื่องจากเกรงว่าจะมีกลุ่มนายพรานในพื้นที่หรือแม้กระทั่งนอกพื้นที่แฝงกายเป็นนักท่องเที่ยวเข้ามาลักลอบล่าสัตว์
ทั้งนี้นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เปิดเผยภายหลังว่า จากกรณีมีภาพเสือโคร่งประกฎอยู่ตามหน้าสื่อสังคมออนไลน์นั้น มันเกิดจากงานการวิจัยขององค์การแพนเทอรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงาน NGO ที่เข้ามาวิจัยในพื้นที่ จากการวิจับพบว่าการดำเนินการที่เข้ามาติดต้องกล้องดักถ่ายเพื่อสำรวจสัตว์ตระกูลแมว ซึ่งเสือโคร่งเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีตัวขนาดใหญ่ที่สุด
ซึ่งที่ผ่านมาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระได้พบร่อยรอยและพบตัวของเสือโคร่ง โดย 5 ปีที่ผ่านมาเราพบเสือโคร่งวนเวียนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระประมาณ 6 ตัว ซึ่งเสือโคร่งได้เดินวนเวียนไปตามป่าหลายพื้นที่เช่นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และอยู่ในพื้นที่ของเราโดยตรง ซึ่งตามที่มีข่าวตามหน้าสื่อที่บอกว่าเสือโคร่งมาจากป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด่านตะวันตก รวมทั้งมาจากป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ซึ่งก็เป็นไปตามที่สื่อรายงาน
เรามองว่าการพบเสือโคร่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันเป็นตัวชี้วัดว่าพื้นที่ป่าที่พบเสือโคร่งรวมทั้งที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีความอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะในเรื่องของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง ถามว่าเสือที่พบนั้นเชื่อมโยงไปถึงที่พบที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีหรือไม่ ต้องขอเรียนว่าเสือที่พบในผืนป่าแก่งกระจานไม่น่าจะเชื่อมโยงไปถึงกัน เพราะผืนป่าของเราตัดขาดจากป่าแก่งกระจานช่วงจังหวัดราชบุรี สำหรับแนวทางการบริหารจัดการได้มีองค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF Thailand มาเล็งเห็นเรื่องการทำรอยต่อผืนป่าและได้ออกสำรวจพบว่าผืนป่าของจังหวัดกาญจนบุรีตัดขาดจากป่าแก่งกระจานที่จังหวัดราชบุรี ส่วนเสือโคร่งที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักไม่มีร่องรอยหรือหลักฐานอะไรมาพิสูจน์ได้ว่ามาจากป่าแก่งกระจาน แต่พบร่องรอยและหลักฐานว่าเสือโคร่งมาจากผื่นป่าเขตรักษาพันพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
การพบเสือโคร่งอย่างแรกที่อยากจะนำเสนอไม่ว่าจะเป็นการที่องค์กรแพนเทอราที่เข้ามาและได้ข้อมูลเรื่องเสือโคร่ง รวมทั้งองค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF Thailand เขามองว่าการที่จะให้เสือโคร่งอยู่ได้ต้องมีการพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าประเภทสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เสืออยู่ได้อย่างปลอดภัยเพราะผืนป่ามีอาหารที่สมบูรณ์เสือจะมีความปลอดภัย
การพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยโดยการเพิ่มประชากรเหยื่อเข้าไปรวมทั้งแหล่งน้ำและทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารของเหยื่อก็จะต้องมีการดำเนินการ
ในส่วนเจ้าหน้าที่ของเราเองได้มีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาทั้งปี ซึ่งใน 1 เดือนอย่างน้อยเราเดินลาดตระเวน 15 วัน ซึ่งการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเป็นงานหลักของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชอยู่แล้ว โดยท่านอรรถพล เจริญชรรษา อธิบดีฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
ซึ่งการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบร่องรอยและเก็บข้อมูลของภัยคุกคาม ผู้ที่เป็นภัยคุกคามไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นประชาชนของเรานี่เองที่เข้าไปล่า ฉะนั้นแล้วการเฝ้าระวังจะต้องมีการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลที่อยู่รายรอบผืนป่าที่เป็นชุมชนหรือหมู่บ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราจะต้องรู้ว่าบุคคลกลุ่มไหนมีพฤติกรรมทำผิดด้านไหน อย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่จะต้องรู้เขารู้เราในระดับหนึ่ง
เมื่อพื้นที่ของเราพบเสือโคร่ง ประเด็นการจับตาคือเพ่งไปที่กลุ่มพวกนายพราน เช่นฝั่งอำเภอบ่อพลอย มีใครมีพฤติกรรมเป็นนายพรานและฝั่งอำเภอศรีสวัสดิ์มีใครเป็นนายพรานเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันนี้เรามีข้อมูลกลุ่มบุคคลเหลานี้แล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และเรามีรายชื่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้หมดแล้ว แต่ต้องขอปิดเอาไว้เป็นความลับ ซึ่งเราได้เสนอไปสู่องค์กรเกี่ยวกับกรที่เข้ามาช่วยควบคุม เช่นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ตร.ปทส.และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน สำหรับรายชื่อของบุคคลที่มีพฤติกรรมเป็นนายพราน ไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่จะต้องขึ้นบัญชีดำ แต่เราถือว่าเป็นบุคคลที่จะต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นมากกว่า
ซึ่งหากประชาชนพบเห็นเสือโคร่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ก็ขออย่าได้ตื่นตกใจเพราะเป็นสิ่งที่ดี เพราะเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่กลัวคนเหมือนกับสัตว์ทุกชนิดที่กลัวคนทำร้าย การที่เราพบเสือโคร่งในพื้นที่ถือว่าเป็นต้นทุนทางพันธุกรรมที่ดี เพราะจะทำให้เราทราบได้ว่าเรายังมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่ ซึ่งหากใครพบขอให้แจ้งข้อมูลข่าวสารมาได้ที่สายด่วน 1362 หรือสามารถโทรได้โดยตรงมาที่ผม เบอร์ 063-1892599
//////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน