ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่ากรณีช้างป่าสลักพระออกนอกพื้นที่เดินข้ามแม่น้ำแควใหญ่มาหากินหรืออยู่บริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรีนั้น ส่วนตัวแล้วผมมีข้อสงสัยอยู่เช่นกันว่าการเคลื่อนตัวของช้างมันมีลักษณะเหมือนกับว่าช้างเป็นสัตว์สังคมที่ต้องการหาพื้นที่อยู่ใหม่หรือเปล่า หรือเส้นทางดังกล่าวจะเป็นเส้นทางเดินของช้างมาตั้งในอดีตกาลหรือไม่
แต่จำนวนช้างป่าที่อาศัยอยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 300 ตัว ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยของ ดร.โจชัว พลอตนิค (Joshua Plotnik)ผู้อำนวยการบริหารของ Think Elephants International มูลนิธิไม่แสวงหาผลกำไรจากสหรัฐอเมริกา ได้วิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของช้างได้มาดูเรื่องของลักษณะของช้าง 5 ลักษณะ ของช้างตัวเต็มวัยด้วยการตั้งกล้องดักถ่ายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระของเรา มานาน 4-5 ปี พบว่ามีช้างป่าโตเต็มวัยอยู่ในผืนป่าประมาณ 220 ตัว ซึ่งยังไม่นับลูกของช้างป่า จึงอนุมานได้ว่าปัจจุบันนี้ช้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 300 ตัวแล้ว
ซึ่งช้างจำนวน 300 ตัวที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่มีเนื้อที่ประมาณกว่า 5 แสนไร่ ถามว่าพื้นที่ 5 แสนพอเพียงต่อการอยู่อาศัยของช้างป่าหรือไม่นั้น เรื่องนี้ขอตอบว่าพอเพียงต่อการอยู่อาศัย แต่พื้นที่ทั้งหมดจะต้องมีความเหมาะสมกับการอยู่ของช้างป่าทั้งหมด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสภาพพื้นที่ 5 แสนไร่นั้นมันมีพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงชัน และเป็นภูเขาหินซึ่งลักษณะภูมิประเทศของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีสภาพที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ช้างป่าไม่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ในลักษณะนี้ได้ จากจำนวนของช้างที่มีเพิ่มขึ้นจึงเดินออกมาจากป่า ซึ่งพบว่าช้างป่าได้เริ่มเคลื่อนตัวออกมาไกลมาก ขณะนี้ออกมาถึงเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี ที่บริเวณ ต.ลาดหญ้า แล้วข้ามแม่น้ำแควใหญ่เข้าไปอยู่ฝั่ง ต.หนองบัว หลังมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี ซึ่งเหตุการณ์ไม่เคยมีมาก่อน
โดยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผมได้รับแจ้งจากนายนพรัตน์ สระบัว กำนันตำบลหนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรีว่า มีช้างป่า จำนวน 3 ตัวออกนอกพื้นที่ด้วยการข้ามแม่น้ำแควใหญ่มาอยู่บริเวณพื้นที่ หมู่ 4 หมู่ 5 และหมู่ 8 รวมทั้งเข้าไปตามบ้านพักและบริเวณหอพักของมหาวิทยาลัยราชภัฎฯ
หลังจากได้รับแจ้งผมพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จึงได้นำกำลังไปร่วมกันผลักดันช้างป่าให้กลับคืนสู่ผืนป่า แต่เนื่องจากช่วงระยะเวลาดังกล่าวปริมาณน้ำในแม่น้ำแควใหญ่ค่อนข้างสูง ทำให้ช้างไม่สามารถเดินข้ามฝั่งมาได้ ซึ่งนายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนันตำบลช่องสะเดา ได้ประสานไปยังหัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนท่าทุ่งนา เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ปิดประตูระบายน้ำ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
จนกระทั่งคืนวันที่ 25 ธ.ค.ต่อเนื่องไปจนถึงเช้าวันใหม่ของวันที่ 26 ธ.ค.กระแสน้ำจึงลดทำให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันผลักดันช้างป่าข้ามแม่น้ำกลับไปได้อย่างปลอดภัย โดยขณะนี้ช้างป่า 2 แม่ลูกและช้างพี่เลี้ยงอีก 1 ตัว อยู่ที่ป่าหลังวัดเย็นสนิทธรรมาราม หมู่ 5 ต.ลาดหญ้า อ.เมืองกาญจนบุรี ซึ่งจะต้องผลักดันให้ช้างเดินไปตามช่องเขากลับเข้าสู่ผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของเราและผู้นำชุมชนรวมทั้งชาวบ้านยังเฝ้าระวังกันอยู่ ส่วนการผลักดันให้กลับเข้าผืนป่ายังทำอะไรได้ไม่มากเพราะมันไม่ใช่พื้นที่เปิดโล่งอีกทั้งยังมีแหล่งน้ำและหย่อมป่าให้ช้างซุกตัวอยู่ได้ เพราะฉะนั้นการเฝ้าระวังจึงมีความสำคัญและจำเป็น
โดยที่ผ่านมานายมานะ เพิ่มพูน ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3(บ้านโป่ง)ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและได้ร่วมกันวางแผนในเรื่องการผลักดันช้างป่าทั้ง 3 ตัวให้กลับเข้าสู่ผืนป่าเขตฯสลักพระในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ 2567
นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องการควบคุมช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 300 ตัว โดยเฉพาะช้างที่มีพฤติกรรมที่เกเรชอบออกนอกพื้นที่ การผลักดันช้างป่ากลุ่มนี้ใช่ว่าจะทำกันได้ง่ายๆ แต่หากทำได้จำเป็นจะต้องมีสถานที่ควบคุม
โดยแนวทางของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช มองว่าจะต้องมีพื้นที่ควบคุม ซึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ได้มองพื้นที่ควบคุมที่เหมาะสมเอาไว้แล้ว พื้นที่ดังกล่าวคือพื้นที่ช่องเขาป่าหนองแจง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีภูเขาสูงชั้นล้อมรอบเอาไว้ทั้ง 2 ฝั่งลักษณะคล้ายกับซอกภูเขา มีเนื้อที่กว่า 4 พันไร่ จากลักษณะดังกล่าวจึงทำให้การดำเนินการทำคอกควบคุมช้างป่าใช้งบประมาณน้อยกว่าการที่จะทำพื้นที่ควบคุมแบบเปิดโล่ง
โดยภายในซอกเขาป่าหนองแจงเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่มีภูเขาล้อมรอบทั้งสองฝั่ง หากดำเนินการทำรั้วรอบขอบชิดให้มั่นคงแข็งแรงและภายในพื้นที่จะต้องจัดทำแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้สมบูรณ์ จะทำให้ช้างปรับพฤติกรรมอยู่ได้ หากทำสำเร็จอาจจะสามารถทำเป็นแหล่งที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ได้ในอนาคต โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อจะได้มีรายได้ขึ้นมา เพราะชุมชนเขาได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาช้างป่ามาช้านาน ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ท่านผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพย์ฯได้ลงพื้นที่และบินสำรวจตรวจสอบสถานที่บริเวณซอกเขาป่าหนองแจงเพื่อนำไปพิจารณาใช้เป็นสถานที่ควบคุมช้างป่าแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand ได้ออกมารายงานถึงสถานการณ์ช้างป่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยระบุว่า
การกระจายช้างป่า 16 กลุ่มป่า 93 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 48 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 36 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 9 แห่ง ประชากรช้างป่า 4,013 – 4,422 ตัว ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ 70 แห่ง แบ่งเป็น อุทยานแห่งชาติ 34 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 29 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 7 แห่ง
5 กลุ่มป่าหลักที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่ารุนแรง ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าตะวันออก สถิติช้างป่าออกนอกพื้นที่ 5 กลุ่มป่า รวม 13,055 ครั้ง สถิติช้างป่าสร้างความเสียหาย 5 กลุ่มป่าทรัพย์สิน 296 ครั้ง พืชผลทางการเกษตร 1,743 ครั้ง ราษฎร บาดเจ็บ จากช้างป่า (ทั้งประเทศ) จำนวน 29 ราย ราษฎร เสียชีวิต จากช้างป่า (ทั้งประเทศ) จำนวน 21 ราย และช้างป่าตาย (ทั้งประเทศ) 24 ตัว
////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน