นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงข่าว "ผลการทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566" ที่ห้องไดมอนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมนางระวีพรรณ แก้วเพียงเพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเข้าร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้
รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นสำมะโนการเกษตรของประเทศไทย ครั้งที่ 7 โดยเก็บข้อมูลจากเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองทำการเกษตรทุกรายในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าว มาประมวลผลและนำเสนอผลข้อมูลสถิติ สำหรับใช้อธิบายสถานการณ์การทำการเกษตรของประเทศ ณ ปีที่จัดทำสำมะโน ซึ่งจะทำให้ทราบโครงสร้างการเกษตรของประเทศและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบาย มาตรการ ติดตามและประเมินผลการพัฒนาการเกษตรของประเทศ รวมทั้งใช้วางแผนพัฒนาการเกษตรและประชากรในภาคการเกษตรของประเทศ ข้อมูลสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองทำการเกษตร จำนวน 8.7 ล้านราย (ร้อยละ 37.5 ของครัวเรือนทั้งประเทศ) และมีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 142.9 ล้านไร่ (ร้อยละ 44.5 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ) โดยผู้ถือครองทำการเกษตร มีเนื้อที่ถือครองเฉลี่ย 16.4 ไร่ต่อราย นอกจากนี้ยังพบว่า มีครัวเรือนผู้รับจ้างทำการเกษตรหรือครัวเรือนลูกจ้างเกษตร ทั้งสิ้นกว่า 2.5 แสนครัวเรือน โดยผู้ถือครองทำการเกษตร เป็นผู้ปลูกพืชมากที่สุดกว่า 8.0 ล้านราย (ร้อยละ 92.1) ซึ่งในจำนวนนี้มีร้อยละ 15.2 ที่มีการทำกิจกรรมการเกษตรประเภทอื่นร่วมกับการปลูกพืชด้วย เช่น เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด หรือทำนาเกลือสมุทร เนื้อที่ถือครองทำการเกษตรของประเทศไทย เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46.2) เป็นที่ปลูกข้าว รองลงมาคือ ที่ปลูกพืชไร่ (ร้อยละ 23.4) ที่ปลูกยางพารา (ร้อยละ 19.0) ที่ปลูกพืชยืนต้น ไม้ผล สวนป่า (ร้อยละ 8.4) และที่ปลูกพืชผัก สมุนไพร และไม้ดอก ไม้ประดับ (ร้อยละ 0.5)ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้ถือครองและเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรมากที่สุด คือ 4.1 ล้านราย และ 67.0 ล้านไร่ ตามลำดับ รองลงมาคือภาคเหนือ 1.9 ล้านราย และ 32.7 ล้านไร่ ภาคใต้ 1.6 ล้านราย และ 20.9 ล้านไร่ ส่วนภาคกลางมีผู้ถือครองทำการเกษตรน้อยที่สุด 1.2 ล้านราย และมีเนื้อที่ถือครอง 22.3 ล้านไร่
สำหรับสถานการณ์ด้านการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตร พบว่า ผู้ถือครองทำการเกษตร ร้อยละ 71.3 รายงานว่ามีการใช้เครื่องจักรเพื่อการเกษตร โดยรายงานการใช้เครื่องจักรมากที่สุด 5 ชนิด ได้แก่ (1) รถแทรกเตอร์ 4 ล้อ (2) เครื่องเกี่ยวนวดข้าว (3) รถไถเดินตาม (4) เครื่องสูบน้ำหรือระหัดวิดน้ำ และ (5) เครื่องพ่นยาปราบศัตรูพืช ผู้ถือครองทำการเกษตร ร้อยละ 4.0 รายงานว่ามีการใช้โดรนเพื่อการเกษตร และยังพบว่ามีจำนวนโดรนที่ผู้ถือครองทำการเกษตรรายงานการครอบครองอยู่กว่า 15,000 ลำ ผู้ถือครองทำการเกษตร ร้อยละ 29.8 รายงานว่ามีการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการเกษตร โดยรายงานวัตถุประสงค์ที่มีการใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ใช้เพื่อดูพยากรณ์อากาศ (2) ใช้สำหรับลงทะเบียนหรือให้ข้อมูลและติดต่อภาครัฐ (3) ใช้ตรวจสอบราคาปัจจัยการผลิต (4) ประกันภัยพืชผลทางการเกษตร และ (5) ใช้เพื่อตรวจสอบราคาสินค้าที่ขายสถานการณ์การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรจากผลสำมะโน พบว่า ผู้ถือครองทำการเกษตรส่วนใหญ่ถือครองที่ดินขนาดเล็ก โดยพบผู้ที่มีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรน้อยกว่า 20 ไร่ มีสูงถึงร้อยละ 65.4 สำหรับหนี้สินในภาคการเกษตรนั้น ผลสำมะโนพบว่า ผู้ถือครองทำการเกษตร ร้อยละ 74.3 มีหนี้สิน โดยผู้ถือครองทำการเกษตรบางส่วน มีจำนวนหนี้สินค้างชำระมากกว่ารายได้จากมูลค่าผลผลิตการเกษตรเกือบเท่าตัวผลสำมะโนการเกษตร ยังได้สะท้อนปัญหาจากผู้ถือครองทำการเกษตร โดยพบว่า ร้อยละ 73.5 ของผู้ถือครองทำการเกษตร รายงานว่ามีปัญหาในการประกอบการเกษตร โดยปัญหาที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ราคาปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นมาก (2) ฝนแล้งหรือขาดแหล่งน้ำ (3) ราคาผลผลิตตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด (4) ได้ผลผลิตน้อยเกินไป และ (5) น้ำท่วม โคลนถล่ม พายุ สำหรับภารกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรนั้น กระทรวงฯ มีนโยบายส่งเสริมการยกระดับเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีแผนการพัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการใช้และการเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบข้อมูลสำหรับวางแผนการผลิตเพื่อพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรอัจฉริยะที่สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาไปสู่รูปแบบฟาร์มอัจฉริยะ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ เข้ามาใช้ทำการเกษตร ได้แก่ โดรน ไอโอที (Internet of Things) รวมถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯมีแนวทางขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมเกราะความแกร่งและความมั่นคงให้เกษตรกรไทย โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตร ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งมีเป้าหมายหลัก “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน” ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”ของรัฐบาลอีกทั้งยังให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร ทั้งในด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการยกระดับการช่วยเหลือโดยมีแนวทางการสร้างและขยายโอกาสบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพอย่างแท้จริงและเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดอาชีพด้านเกษตรได้อย่างยั่งยืน โดยจะมีการ kick off แจกโฉนด ในวันที่ 15 มกราคม 2567
สำหรับด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ ได้ชู “โครงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพลูกค้าพักชำระหนี้ 3 เพิ่ม 3 สร้าง ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ซึ่งได้รับการพักชำระหนี้ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับพักชำระหนี้ โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาต่อยอดการประกอบอาชีพนอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ตั้งเป้าหมายให้ “เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง พัฒนาทรัพยากรเกษตร ให้ยั่งยืน เพื่อให้ภาคเกษตรไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญ คือ 1) การยกระดับสินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร ผลักดันส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง 2) การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ส่งเสริมการทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG/Carbon Credit เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร โดยสร้างระบบประกันภัยเกษตรกรไทยสุขใจถ้วนหน้า และการบริการทางการเกษตร