ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท่องเที่ยว ย้อนกลับ
ท่องเที่ยวแบกเป้าปั๊มรายได้นิวไฮ 3.5 ล้านล้าน ชูซอฟต์พาวเวอร์ ตลาดคุณภาพ
18 ม.ค. 2567

'สุดาวรรณ' รมว.การท่องเที่ยวฯ ประกาศเคลื่อน 7 นโยบายหลักในปี 67 ชูพลังซอฟต์พาวเวอร์ ความปลอดภัย พร้อมยกระดับสู่จุดหมายปลายทางคุณภาพ ปั๊มรายได้ท่องเที่ยว '3.5 ล้านล้านบาท' ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 40 ล้านคน หลังปี 66 วืดเป้า ทำรายได้รวม 2 ล้านล้านบาท พลาดไป 3.8 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประกาศแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงฯ ครอบคลุมการขับเคลื่อนตลาดการท่องเที่ยวของไทยทั้งภายในและต่างประเทศสู่การเป็นจุดหมายปลายทางคุณภาพ (Quality Destination) การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ให้เป็นพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2567 รวมถึงการยกระดับการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประกาศนโยบายสำคัญ มุ่งพลิกโฉมภาคการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย ด้วยการตั้งเป้าหมายเชิงท้าทาย สร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท สูงกว่ารายได้รวมเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ตามที่นายกฯ เศรษฐา และรัฐบาลอยากเห็นจากศักยภาพที่มี

โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.3 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน กลับไปเท่าสถิติเดิมของปี 2562 ซึ่งปิดที่จำนวน 39.9 ล้านคน ด้านรายได้จากตลาดในประเทศตั้งเป้าไว้ที่ 1.2 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 200-220 ล้านคน-ครั้ง

ส่วนเป้าหมายการทำงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ คือการสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 100% เท่ากับรายได้รวมปี 2562 โดยแบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน และรายได้จากตลาดในประเทศ 1.08 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 200 ล้านคน-ครั้ง

 

‘จีนเที่ยวไทย’ 8 ล้านคน ปั้นรายได้ 3.2 แสนล้าน

ทั้งนี้ในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าไทย สร้างรายได้กว่า 3.2 แสนล้านบาท จากจำนวน 8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 130% จากจำนวน 3.5 ล้านคนเมื่อปี 2566 จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนที่จะยกเว้นวีซ่าระหว่างกันแบบถาวร

ขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กำลังดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพื่อรอประกาศอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นคาดเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยบรรยากาศช่วงโกลเด้นวีคหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน (10-17 ก.พ.) น่าจะช่วยสร้างแรงส่งที่ดีต่อการเดินทางของชาวจีนเข้ามาในประเทศไทย

“กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. จะเน้นดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น อยู่นานขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางซ้ำ ด้วยการจัดงานอีเวนต์ใหญ่ตลอดปี จากการต่อยอดงานเทศกาลประเพณี รวมถึงการนำเสนอสิ่งใหม่ เน้นเมืองรอง ไม่ให้กระจุกแค่ในเมืองหลัก รวมไปถึงซอฟต์พาวเวอร์ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) มวยไทย (Fighting) ภาพยนตร์และซีรีส์ (Film) แฟชัน (Fashion) และเฟสติวัล (Festival)”

หลังจากในปี 2566 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้นกว่า 28 ล้านคน เกินกว่าเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ 25-28 ล้านคน ส่วนรายได้รวมการท่องเที่ยว ตั้งเป้าไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท แต่เมื่อสรุปตัวเลขเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีรายได้รวมการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท แม้จะเพิ่มขึ้น 100% จากปี 2565 แต่ถือว่าพลาดเป้าหมายดังกล่าวไปราว 3.8 แสนล้านบาท

 

‘สุดาวรรณ’ ชู 7 นโยบายพลิกโฉมท่องเที่ยว-กีฬา

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนโยบายที่กระทรวงฯ จะขับเคลื่อนในปี 2567 มี 7 นโยบายหลัก ได้แก่ นโยบายที่ 1 การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2567 จากเชิงปริมาณเข้าสู่โหมดของคุณภาพ ทั้งมิติของในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนายกฯ เศรษฐา ต้องการให้บรรยากาศการท่องเที่ยวของประเทศไทยคึกคักตลอดทั้งปี ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทย

“ประเทศไทยต้องมี High Season All Year Round Tourism Destination คือ เที่ยวได้ทั้งปี หรือเที่ยวได้ทั้ง 365 วัน จึงได้เตรียมจัดอีเวนต์ต่างๆ ตลอดปี เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลสงกรานต์ ที่จะจัดให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี เพราะยูเนสโก (UNESCO) เพิ่งประกาศขึ้นทะเบียนให้สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ จึงต้องยกระดับกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ ในระดับชุมชนให้เป็นอีเวนต์ระดับนานาชาติ เป็นการกระตุ้นการไปท่องเที่ยวเมืองรอง 

ดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ขุมพลังเคลื่อนท่องเที่ยว

นโยบายที่ 2 กระทรวงฯ จะใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นพลังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทยให้เป็น “Engine the New Power” และจากจุดเด่นของซอฟต์พาวเวอร์จะมีเรื่องกีฬาเข้ามาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนด้วย สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนดีมานด์ของการท่องเที่ยวและการกีฬาได้เป็นอย่างดี

นโยบายที่ 3 ประเทศไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย (Safety) และการต้อนรับ (Hospitality) โดยต้องทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นว่า “เมืองไทยปลอดภัย” มาแล้วได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายและปราบปรามการเอาเปรียบหลอกลวงนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยของเรา

นโยบายที่ 4 นำเรื่องความรับผิดชอบ (Responsibility) มาต่อยอดสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เรื่องนี้ เป็นนโยบายที่พูดกันมานานแล้ว แต่ในปี 2567 จะนำมาขับเคลื่อนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้ เมื่อท้องถิ่นมาร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน

นโยบายที่ 5 จะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการกระชับความสัมพันธ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสานต่อนโยบายของนายกฯ ที่ให้ความสำคัญกับการเดินทางเชื่อมโยงภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ปลายเดือน ม.ค.นี้ จะมีประเด็นพูดคุยที่สำคัญคือ “ASEAN Connect” ที่จะทำให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก

 

รุกเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่า ‘กีฬาไทย’

นโยบายที่ 6 มีนโยบายขับเคลื่อนด้านกีฬาพื้นฐาน โดยวางระบบการพัฒนาทั่วประเทศเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริม พัฒนาการการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา ทุกคนสามารถออกกำลังกายเป็นวิถีชีวิต สามารถเข้าถึงกีฬาได้หมดทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งคนปกติ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งจะมีการส่งเสริมกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กีฬาเพื่อการอาชีพที่จะต้องพัฒนากีฬาทุกระดับและบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาเพิ่มสมรรถนะให้กับนักกีฬาไทยให้แข็งแกร่งขึ้นเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติ หรือกีฬาอาชีพ และต้องผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติและระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ สุดท้ายคือ อี-สปอร์ต (E-Sport) ถือเป็นกิจกรรมกีฬาใหม่ที่ต้องส่งเสริม เพราะสามารถสร้างทักษะให้กับเยาวชนและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก

นโยบายที่ 7 การเตรียมพร้อมสำหรับมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ซึ่งในปี 2567 จะมีรายการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการ ทั้งการส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 และการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ได้แก่ เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ จักรยานยนต์โมโตจีพี เจ็ตสกีชิงแชมป์โลก ฮอนด้า แอลพีจี เอ ไทยแลนด์ 2024 รวมถึงการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 2568 ซึ่งมี 3 จังหวัดร่วมเป็นเจ้าภาพคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี และสงขลา

“ด้านการกีฬา กระทรวงฯ ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่ากีฬาไทยที่มีเพียง 0.58% ในขณะนี้ ให้เป็น 1% จากอุตสาหกรรมกีฬาโลกที่มีขนาด 45.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 455,800 ล้านบาทให้ได้” รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าว

 

‘ทีเส็บ’ กางแผนฟื้นตลาดไมซ์สู่ 1.4 แสนล้าน

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทิศทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ของประเทศไทยในปี 2567 ทีเส็บได้กำหนดเป้าหมายผลักดันจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 23.2 ล้านคน ฟื้นตัว 75% ของปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด สร้างรายได้ 1.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 9.6 แสนคน ทำรายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 22.2 ล้านคน ทำรายได้ 7.3 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2568 คาดว่าจำนวนนักเดินทางไมซ์จะกลับมา 100% เท่ากับปี 2562

สำหรับแนวทางการทำงานในปี 2567 ของตลาดต่างประเทศ จะร่วมงานไทยแลนด์โรดโชว์ เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้และผลักดันไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านไมซ์ระดับท็อป ส่วนตลาดในประเทศจะกระตุ้นการจัดงานภาครัฐ สัมมนาของภาคเอกชน และยกระดับงานแสดงสินค้ากับเทศกาลที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และเป้าหมายการพัฒนาในพื้นของแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่นำร่อง 10 เมืองรอง เพื่อผลักดันเมืองรองที่มีศักยภาพด้านเศษฐกิจให้ได้รับการพัฒนารองรับงานระดับสากล

ด้านสถิตินักเดินทางไมซ์ไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. - ธ.ค. 2566) มีนักเดินทางและรายได้ไมซ์สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีผู้เดินทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.97 ล้านคน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 15.56% ทำรายได้ประมาณ 39,399 ล้านบาท สูงกว่าที่คาดการณ์ 9.53%

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 ธันวาคม 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...