นักวิชาการด้านถ่านหินจากทั่วโลกร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ Coal Mining and Utilization for Sustainable Development International Conference (CM&USD 2017) ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำเหมืองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมแสดงนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ถ่านหินของไทยสู่ระดับสากล
นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการทำเหมืองถ่านหินและการใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ของประเทศไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการ นักวิจัยและนักศึกษาจากทั่วโลก ได้มาร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน และการพัฒนาเทคโนโลยีการทำเหมืองในปัจจุบัน
สำหรับ การประชุมวิชาการนานาชาติมีหัวข้อการสัมมนาด้านการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากการทำเหมืองถ่านหิน รวมถึงการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ 1) การทำเหมืองถ่านหินภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 โดยนายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) 2) พลังงานหมุนเวียนจะสามารถแทนที่พลังงานจากถ่านหินทั้งหมดในอุตสาหกรรมโลกได้หรือไม่ โดย รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ 3) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด หรือเทคโนโลยี HELE (High Efficiency, Low Emission) โดย Mr. Mikio Ando วิศวกรอาวุโส ฝ่ายวางแผนเชิงกลยุทธ์และสารสนเทศจากศูนย์พลังงานถ่านหิน ประเทศญี่ปุ่น 4) ความท้าทายของการเริ่มต้นการวิจัยและพัฒนา และความร่วมมือระหว่างประเทศของการทำเหมืองถ่านหินในประเทศอินเดีย โดย Prof. Dr. Khanindra Pathak กรรมการอิสระจาก Coal India Limited Department of Mining Engineering Indian Institute of Technology (IIT) เมืองฆารคปุระ ประเทศอินเดีย และ 5) ความสำคัญ ความท้าทายและแนวทางการแก้ไขปัญหาในการปิดเหมือง โดย Mr. Karl Kleineberg จากสถาบันเทคโนโลยี จอร์จ อกริโคลา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ภายในงาน กฟผ. จะแสดงผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นและได้รับรางวัลมาแล้ว อาทิ แผงประกอบอุปกรณ์พิเศษหม้อน้ำแรงดันสูง ด้วยระบบสูบน้ำแบบอนุกรมต่างระดับอัตโนมัติ 3-STAGE ซึ่งสามารถสูบน้ำออกจากบ่อเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอุปกรณ์เคลียร์ถ่านติดสะสม (Distribution Bunker Cleaning Equipment) ที่ช่วยแก้ปัญหาถ่านติดสะสมที่อาคาร สามารถเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน และส่งถ่านหินไปยังโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ทันเวลา อีกทั้งยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการจำนวนกว่า 54 เรื่อง จากนักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำของโลก และพนักงาน กฟผ. โดยแบ่งหัวข้อเป็น 8 ประเภท ได้แก่ การเจาะระเบิด การวางแผนระบบการทำงานเหมือง ธรณีเทคนิคในการทำเหมือง สิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองและมาตรการการติดตามอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำเหมือง การฟื้นฟูสภาพเหมืองและการวางแผนการปิดเหมือง การปรับปรุงคุณภาพถ่านและการนำไปใช้ และมุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคมในการทำเหมือง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเหมืองแม่เมาะ กฟผ. ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทการทำเหมืองเปิดที่มีแนวทางปฏิบัติเป็นเลิศ หรือ Best Practice for Surface Coal Mining Category จากเวที ASEAN Coal Awards 2017 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี การนำถ่านหินมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเกิดการยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ