การไฟฟ้านครหลวงหรือMEA พร้อมด้วยพันธมิตรเดินหน้าจัดระเบียบสายสื่อสารย่านเอกมัย ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร หวังให้เกิดประโยชน์ในด้านความปลอดภัย ทัศนียภาพที่ดี รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้สนับสนุนการจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมอำนวยความสะดวกในด้านความปลอดภัยจากการทำงานบนเสาไฟฟ้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านความปลอดภัย ทัศนียภาพที่ดี รวมถึงความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า ลดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ MEA ยังได้ดำเนินการติดตั้งคอนสายสื่อสารเพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ควบคุมให้ติดตั้งสายสื่อสารตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ MEA รวมถึงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า Smart CCM (Smart Communication Cable Management) เพื่อให้บริการขออนุญาตติดตั้งสายสื่อสารแบบออนไลน์ (Online) บันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ของ MEA ช่วยบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารที่ติดตั้งขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
" ปี 2567 MEA มีแผนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบสายสื่อสารรวมระยะทางกว่า 570 กิโลเมตร เฉลี่ยดำเนินงานเดือนละ 45 กิโลเมตร ขณะเดียวกัน MEA ยังมีโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินที่กำหนดเป้าหมาย 313.5 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยจะบูรณาการความร่วมมือในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปในคราวเดียวกันอีกด้วย
โดยขณะนี้ สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จรวม 91.2 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญในถนนต่าง ๆ เช่น ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์"
อย่างไรก็ตามยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 222.3 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ และในปี 2567 MEA ยังจะดำเนินการรื้อถอนเสาสายในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ ได้แล้วเสร็จ เช่น ถนนหลังสวน ถนนเทพารักษ์ ถนนเจริญราษฎร์ ถนนลาดพร้าว ถนนพระราม 4 และถนนอังรีดูนังต์ เป็นต้น
นายราเชนทร์ อันเวช ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า สำหรับสายสื่อสารที่ทาง MEA ได้ทำการรื้อแล้วนั้น ทาง MEA ได้ร่วมกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม รื้อสายสื่อสาร จะต้องมีการกำจัดสายสื่อสารจำนวนมหาศาล โดยเริ่มต้นจากการขนย้ายไปยังสถานที่จัดเก็บในตู้คอนเทนเนอร์ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จากนั้น จะถูกลำเลียงไปยังจังหวัดระยอง เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพสายไฟเบอร์ออฟติกให้กลายเป็น เชื้อเพลิง ที่ใช้ประโยชน์ในการเผาไหม้ ชนิด SRF (Solid Recovered Fuel)
ซึ่งกระบวนการนี้ จะมีการคัดแยกฝอยโลหะออก แล้วย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 5 เซ็นติเมตร และจัดเก็บไว้ในถุงบิ๊กแบค ก่อนจะนำไปผสมกับสารต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ เป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ในโรงงานต่างๆ เช่น โรงปูน หรือโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันก๊าซ หรือน้ำมันเตา ซึ่งยังคงสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานได้
///////////