โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) หรือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางทะเล ระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน โดยกำหนดพื้นที่สร้างท่าเรือน้ำลึก บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และบริเณแหลมอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนที่น่าสนใจยิ่ง
หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ของสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งมี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ได้มีมติเห็นชอบ กับรายงานผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์ มีความเหมาะสม คุ้มค่า และจะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้ เพิ่ม GDP ให้กับไทย ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้พิจารณาดำเนินการต่อไป
ก่อนการลงมติ ตัวแทน กมธ. จากสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ได้แก่ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ รองประธาน กมธ. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล กรรมาธิการและที่ปรึกษา นายประเสริฐพงศ์ ศรนุวัฒน์ กรรมาธิการ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ กรรมาธิการ และนักวิชาการ รศ.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ได้ประกาศลาออกจากคณะกรรมาธิการชุดนี้ พร้อมทั้งระบุว่า รายงาน สนข. ที่นำมาพิจารณาในคณะกรรมมาธิการวิสามัญชุดนี้ มีข้อมูลคลุมเครือในหลายประเด็น อาทิ เรื่องท่อส่งน้ำมัน เรื่องการเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจจะขัดกับมติ ครม.ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งการประเมินความต้องการของผู้ประกอบการเดินเรื่อและปริมาณขนถ่ายสินค้า ที่จะผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ มีความเกินจริง
นอกจากนี้ การประเมินเรื่องความแออัดต่อการเดินเรือในช่องแคบมะละกาและท่าเรือสิงคโปร์ ยังมีข้อสงสัยอยู่อีกมาก ประเด็นถัดมาคือข้อมูลเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง เมื่อเทียบกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ก็ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งยังไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงตัวเลขทางการเงินที่สมเหตุสมผล ในการนำมาคำนวนผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญยิ่งก็คือ บทสรุปของรายงานการศึกษาที่ทาง สนข.จัดทำขึ้นมา มีความขัดแย้งกับบทสรุปของรายงานการศึกษาที่สภาพัฒนาการและเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษา สรุปรวมว่า “โครงการแลนด์บริดจ์ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังคงเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์อย่างเต็มที่ โดยการเดินสายโปรโมทโครงการและชักชวนนักลงทุนต่างประเทศ ให้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนในโครงการนี้ทั้งหมด
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หยิบยกเรื่องแลนด์บริดจ์ไปพูดคุยกับ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ขณะเข้าร่วมการประชุม เรื่องหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รวมถึงได้นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์กับนักลงทุนต่างประเทศ เมื่อครั้งเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ที่ซานฟรานซิสโก กลางเดือนพฤศจิกายน 2566 พร้อมทั้งได้ได้เชิญชวนนักธุรกิจเยอรมนี เข้ามาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ในโอกาสที่ ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาเยือนประเทศไทย พร้อมทั้งตอกย้ำถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่จะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ให้สำเร็จ โดยนายเศรษฐาได้ไปพบปะกับประชาชนในพื้นที่ ระหว่างร่วมประชุม ครม. สัญจรที่ จ.ระนอง 22-23 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา
ทำให้บรรดาผู้สนับสนุนโครงการคลองไทย เริ่มหวั่นไหวว่า “คลองไทย” กำลังถูกทิ้งร้าง ทั้งที่โครงการนี้ มีการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางน้ำและพาณิชยนาวี ในคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ซึ่งมี พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เมื่อปี พ.ศ.2564 ชี้ชัดว่า จากการศึกษาอย่างจริงจัง การขุดคลองไทยตามแนว 9A ที่เริ่มจากจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ซึ่งมี ระยะทางประมาณ 120-145 กิโลเมตร มีความเหมาะสม และจะสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ได้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดทำรายงานการศึกษาเรื่องการขุดคลองไทยแล้วเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นและไม่คุ้มค่าที่จะต้องดำเนินการ สอดคล้องกับมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เห็นชอบกับเรื่องนี้ แต่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 จากญัตติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ประชุมสภาฯ มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยมุ่งศึกษาเส้นทางคลองไทย 9A ตามที่เคยมีการศึกษาโดยรัฐบาลและรัฐสภาในช่วงปี 2544-2548 ซึ่งได้ผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว
ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีการเสนอรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษคลองไทย พ.ศ..... เพื่อผลักดันให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโครงการรคลองไทยให้เสร็จโดยเร็ว แต่ไม่ได้รับการพิจารณาในรัฐสภา เพราะเป็นร่างกฏหมายที่เกี่ยวกับการเงิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่ให้คำรับรอง เป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตกไป
เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันประกาศเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูง ไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน เพราะการขนส่งสินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ ด้วยวิธีการสร้างท่าเรือน้ำลึกสองฝั่งทะเล แล้วขนถ่ายสินค้าผ่านแลนด์บริดจ์ จะทำให้ผู้ประกอบการเดินเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ มีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น แถมยังต้องเสียเวลาในการขนถ่ายสินค้าจากเรือและนำขึ้นเรือทั้งสองฝั่ง ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ อาจจะไม่สนใจใช้เส้นทางนี้ แทนเส้นทางเดินเรือเดิมที่อ้อมผ่านประเทศสิงคโปร์
ประเด็นดังกล่าวนี้ ทำให้บรรดาสื่อมวลชนชาวจีน พากันออกมาวิพากษ์วิจารย์ผ่านสื่อโซเชียลอย่างสนุกปากว่า รัฐบาลไทยโง่เขลาที่หันไปทำโครงการแลนด์บริดจ์ แทนที่จะขุดคลองเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน เพราะพิจารณาอย่างไรก็มองว่าการขุดคลองไทย มีความน่าสนใจมากกว่า
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน 2566 สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนาและตัวแทนจากภาคใต้ นำโดย พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกวุฒิสภา (สว.)
ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปให้กำลังใจ นายสุทิน คลังแสง ในโอกาศที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมทั้งเสนอให้กองทัพมีการศึกษาโครงการคลองไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างแท้จริง
นายสุทิน กล่าวว่า ภารกิจคลองไทยเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน และมีความเห็นต่างกันอยู่บ้าง เชื่อว่าทุกท่านเจตนาดีต่อบ้านเมือง อยากให้บ้านเมืองเจริญ ดังนั้น คลองไทยจึงเป็นทางเลือกที่ดีในยุคใหม่ เพื่อแสวงหาโอกาส และรายได้ใหม่ของประเทศ เช่นเดียวกับนโยบายของเพื่อไทย ที่ต้องการจะสร้างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาค หรือเมืองใหม่ ตามพื้นที่ต่างๆ โดยภาพแผนผังที่สมาคมคลองไทย นำมาให้นั้น เห็นได้ว่า คลองไทยจะเป็นทางเลือกที่ดีมาก แต่ก็ต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ทั้งในเรื่องความมั่นคง และเรื่องเศรษฐกิจ และในฐานะ รมว. กลาโหม จะรับเรื่องนี้ไปพิจารณา แม้หลายฝ่ายจะมีความคิดเห็นแย้งบ้าง ก็ไม่เป็นไร
ต่อมา กลุ่มมวลชนที่สนับสนุนคลองไทย ได้เข้าพบ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาศึกษาโครงการขุดคลองไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางน้ำ ภายใต้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง เที่ยงตรง อันจะนำไปสู่การตัดสินใจของรัฐบาลในการดำเนินการโครงการคลองไทยต่อไป
ทางด้านนาย ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ถ้าเทียบกันระหว่างโครงการแลนด์บริดจ์ กับ โครงการคลองไทย การขุดคลองไทยน่าจะมีความคุ้มค่าและเหมาะสมกว่า ทั้งในเรื่องการลงทุนและผลประโยชน์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับภาคใต้และประเทศชาติ เนื่องจากคลองไทยได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบมาแล้วหลายครั้ง โดยล่าสุดจากผลการศึกษา มีข้อเสนอให้ขุดคลองไทย ตามแนว 9A เส้นทาง “สงขลา-พัทลุง-นครศรีธรรมราช-ตรัง-กระบี่” เพื่อเชื่อมระหว่าง จังหวัดสงขลา (ฝั่งอ่าวไทย) กับ จังหวัดกระบี่ (ฝั่งอันดามัน) ซึ่งจุดนี้จะมีระยะทางยาวที่สุดใน 4 เส้นทางที่ศึกษาไว้ ( 2A, 5A, 7A, 9A ) คือ 135 กิโลเมตร แต่บริเวณแนวคลองตัดผ่านชุมชนไม่มากนัก ประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุน
แต่แนวคลองไทย 9A ที่ตัดเชื่อมระหว่างจังหวัดสงขลาและจังหวัดกระบี่ ต้องตัดผ่านเทือกเขาระหว่างจังหวัดสตูล พัทลุงและสงขลา ควรจะพิจารณาเส้นทางใหม่ ที่เรียกว่าแนว 5A ซึ่งเชื่อมต่อระหว่าง จังหวัดสงขลา (ฝั่งอ่าวไทย) กับ จังหวัดสตูล (ฝั่งอันดามัน) โดยมีระยะทางประมาณ 106 กิโลเมตร เท่านั้น อีกทั้งไม่ต้องตัดผ่านภูเขาสูง เพราะมีเส้นทางเป็นแนวช่องเขา ซึ่งการขุดคลองจะทำได้รวดเร็วกว่า ใช้งบประมาณในการดำเนินการน้อยกว่า อีกทั้งเส้นทางนี้จะอยู่ในเส้นทางการเดินเรือสากล ระดับน้ำทะเล 2 ฝั่ง ห่างกันเพียง 0.5 เมตร หรือมีความหนาของผิวดิน ถึงระดับน้ำทะเล เฉลี่ยน้อยกว่า แนว 9A มาก
ทั้งนี้ จากฝั่งทะเลด้านจังหวัดสงขลาและสตูล จะขุดทะเลออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและป้องกันทรายไหลกลับมากลบ ขณะที่ด้านทะเลอันดามันฝั่งจังหวัดสตูล มีเกาะสันหลังมังกรช่วยบังคลื่น เลยออกไปจะเป็นเกาะตะรุเตา เกาะลังกาวี และเกาะปีนัง ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งคลองไทยสายนี้ ช่วยให้เกาะปีนังของประเทศมาเลเซียสามารถรับส่งสินค้า เชื่อมโยงกับประเทศจีน ฮ่องกง เกาหลีและญี่ปุ่น ได้สะดวก แทนที่จะต้องรับ-ส่งสินค้า อ้อมผ่านประเทศสิงคโปร์ โดยสามารถใช้เรือสินค้าจากปีนัง นำสินค้าไปขนถ่ายกับเรือแม่ container ที่จะมาเทียบท่าเรือด้านอ่าวไทย
สำหรับท่าเรือฝั่งอ่าวไทยจะสร้างเป็นท่าเรือ container ขนาดใหญ่ single port แบบอัตโนมัติ เพื่อรองรับเรือ container แม่ที่มาจากด้านยุโรปและด้านเอเซีย (ระยะเวลาเดินเรือจากสงขลาไปทางฮ่องกง เร็วกว่าจากแหลมฉบัง 1 วัน) และเรือ container ลูก ก็จะมารับส่งสินค้าให้เรือ container แม่ ส่วนท่าเรือสำหรับขนส่งน้ำมัน เคมี และท่าเรือเทกอง หรืออื่นๆ อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้ง ฝั่งอันดามันและอ่าวไทย
เนื่องจากคลองไทยเป็นคลองน้ำเค็ม จึงจะต้องสร้างระบบป้องกันตลอดแนวคลอง เพื่อไม่ให้น้ำเค็มรั่วไหลออกไปภายนอก เพราะอาจไปสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมได้ ส่วนถนน ทางรถไฟ และคลองน้ำจืดทุกสาย ให้สร้างเส้นทางลอดใต้คลองไทย ทั้งหมด และส่วนที่ตัดผ่านทะเลสาบสงขลาให้ทำเป็นเขื่อนฝายน้ำล้น เพื่อให้น้ำในทะเลสาบสามารถระบายเข้า-ออกทะเลหลวง ได้ตามปกติ เป็นการรักษาระบบนิวเวศน์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเอาไว้ให้ยั่งยืน
สำหรับข้อกังวลว่า แนวคลอง 5A อยู่ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย มากเกินไป ประเทศมาเลเซียอาจได้ประโยชน์ โดยไม่ต้องลงทุน ในประเด็นนี้ เราควรมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นพันธมิตรหรือเป็นลูกค้าที่จะหันมาใช้บริการคลองไทย ในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ส่วนความเป็นห่วงผลกระทบด้านความมั่นคง ที่จะทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียเอกราช และอาจถูกมหาอำนาจโจมตี เพราะคลองไทยสามารถใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหารได้ ประเด็นนี้มักจะถูกหยิบขึ้นมาใช้อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปัญหาการแบ่งแยกดินแดน จากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส) ซึ่งความจริงแล้ว เมื่อมีคลองไทยเกิดขึ้น รัฐก็จะเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และการลงทุนในพื้นที่ที่แนวคลองไทยพาดผ่าน รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าสถานการณ์ชายแดนใต้จะรุนแรงมากขึ้น
“โครงการคลองไทยนี้ ควรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อศึกษาต่อ อาจจะต้องปรับปรุงเล็กน้อยในแนว 5A หากได้ข้อสรุปที่เหมาะสม การดำเนินการแล้วเสร็จ ประเทศไทยก็จะกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำของภูมิภาค และโครงการคลองไทยจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังนั้น ถ้าเดินต่อไปได้ รัฐบาลก็ควรที่จะขอพระราชทานชื่อที่เหมาะสม มาตั้งเป็นชื่อใหม่แทนชื่อคลองไทยหรือคลอง A5 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ รัชการที่ 10 ทั้งนี้ ตามแต่พระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไป” นายประชัย กล่าวในที่สุด