ความคืบหน้า กรณีนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี นายนพพร วสุธาผาภูมิ พร้อมตัวแทนชาวบ้านบ้านทุ่งเสือโทน หมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรีเดินทางมายื่นหนังสือให้กับร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เรื่อง ขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินงานโครงการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ที่ศูนย์ดำรงธรรมชั้นล่างศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา
ต่อมาวันที่ 26 ม.ค.67 นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรีนายวัลลภ จินดา ปลัดอำเภอทองผาภูมิ รวมทั้งผู้แทนสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี นายบรรจง รสจันทร์ นายก อบต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ นายนิติพล ตันติวานิช กำนันตำบลชะแล นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี ร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ โดยมีนายชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ. กรมควบคุมมลพิษ ร่วมประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) โดยในที่ประชุมได้มีการนัดหมายลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบหน้างานอีกครั้งหนึ่งแต่ยังไม่ระบุวันที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมานายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ พร้อมด้วย นายนิติพล ตันติวานิช กำนันตำบลชะแล นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ตำบลชะแล และนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ตัวแทนคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี
ร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่ตามที่ตัวแทนคณะกรรมการไตรภาคีฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี กรณีเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการ การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในการจัดการกากหางแร่บริเวณ (บ่อ 10 ไร่) รวมทั้งบริเวณดินปนเปื้อนที่ยังคงเหลือที่บ้านส่องพู บริเวณบ่อเก็บตะกอนกากหางแร่ที่อยู่ในพื้นที่สัมปทานของโรงแต่งแร่ (บ่อ 22 ไร่) และตรวจสอบหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย ตามโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี ระยะที่ 1 และระยะที่ 2
ทั้งนี้ นายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบและรับทราบจากเอกสารพบว่า ประชาชนยังมีความกังวล จากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว และเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาช่วงหลังจากการดำเนินโครงการ ระยะที่ 1
โดยขอให้ดำเนินการจัดการตะกอนในลำห้วยตะกอนขอบลำห้วย รวมถึงบนตลิ่งที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งขอให้แก้ไขขอบเขตการดำเนินงานโครงการระยะที่ 2 ด้วยการยกเลิกการปิดคลุมหลุมฝังกลบและงานซ่อมแซมฝาย และขอให้ดำเนินการจัดการกากหางแร่ที่มีการปนเปื้อนสูงสะสมอยู่ในบ่อเก็บตะกอนหางแร่เดิมที่อยู่ในพื้นที่สัมปทานของโรงแต่งแร่บริเวณ (บ่อ 22 ไร่)
และให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ดำเนินการแก้ไขปัญหาช่วงหลังจากการดำเนินโครงการ ระยะที่ 2 โดยขอให้กรมควบคุมมลพิษ(คพ.)ดำเนินการจัดการกากหางแร่ที่เหลืออยู่และฝังกลบในหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย รวมทั้งให้ดำเนินการจัดการตะกอนในลำห้วยคลิตี้ ตะกอนขอบลำห้วย และบนตลิ่งที่เหลืออยู่ ให้หมดไปเพื่อให้ชาวบ้านสามารถกลับมาใช้ประโยชน์น้ำภายในลำห้วยคลิตี้ได้อย่างปลอดภัยต่อไป การตรวจสอบรวมทั้งความต้องการของชาวบ้านข้างต้น ผมได้รายงานให้ ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งนายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ทราบแล้ว
ด้านนายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี 1 ในคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่าชาวคลิตี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกระเหรี่ยง ที่ไม่ค่อยได้เรียนรู้หนังสือ โดยเฉพาะผู้สูงวัย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าเจาะเลือดเพื่อหาค่าสารตะกั่วในร่างกายของชาวบ้านมาแล้วซึ่งทุกคนมีค่าสารตะกั่วในร่างกายสูงต่ำไม่เท่ากัน แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่เปิดเผยข้อมูลค่าตะกั่วแต่ปิดเอาไว้เป็นความลับ จากนั้นได้นำยาแคปซูลที่ผลิตจากกระเทียม มาให้ชาวบ้านกินเพื่อรักษา เมื่อชาวบ้านกินยาเข้าต่างก็รู้สึกไม่สบายเพราะเวียนศรีษะอย่างรุนแรง จากนั้นชาวบ้านก็ไม่กล้าที่จะกินยาตัวดังกล่าวอีกเลย สิ่งที่ชาวบ้านต้องการอีกหนึ่งประเด็นก็คืออยากให้สาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลว่าชาวบ้านมีค่าสารตะกั่วในร่างกายเท่าไหร่ เพื่อชาวบ้านจะได้หาทางรักษาตัวเองได้อีกทางหนึ่งด้วย
//////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน