จากกรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่งตั้งชุดพิเศษ 250 คน ใกล้หมดวาระในเดือนพ.ค.2567 และ สว.ชุดใหม่ จำนวน 200 คน จะเป็น สว.ตามบทหลักภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อในฐานะสภาสูง โดยจะไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสส. ตามบทเฉพาะกาล เหมือน สว.แต่งตั้งชุดที่กำลังจะหมดวาระ
ล่าสุด นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงนาม ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สว. พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567 โดยมีทั้งสิ้น 9 หมวด 172 ข้อ
มีสาระสำคัญว่า ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป และให้ยกเลิกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สว. พ.ศ.2563 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก สว.(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561
ให้ประธาน กกต. เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ ทั้งนี้ ก่อนวันที่อายุของวุฒิสภา สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 30 วัน ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประสานผู้ว่าฯและนายอำเภอ เพื่อเตรียมการแต่งตั้งบุคคล เป็น คณะกรรมการระดับอำเภอ และคณะกรรมการระดับจังหวัด
การรับสมัครรับเลือก สว. ให้เริ่มรับสมัครไม่เกิน 15 วันนับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สว.มีผลใช้บังคับ และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วันแต่ไม่เกิน 7 วัน
วันเลือกในระดับอำเภอ ต้องไม่เกิน 20 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร วันเลือกในระดับจังหวัดต้องไม่เกิน 7 วันนับแต่วันเลือกในระดับอำเภอ และวันเลือกในระดับประเทศต้องไม่เกิน 10 วันนับแต่วันเลือกในระดับจังหวัด ทั้งนี้ ในการกำหนดวันเลือกในแต่ละระดับ ต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
ให้มีการแบ่งกลุ่มที่สมัครรับเลือก สว. จำนวน 20 กลุ่ม ตามมาตรา 11 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ดังนี้
1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
3.กลุ่มการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
4.กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
7.กลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาฯ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก (9)
11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการอื่นหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
14.กลุ่มสตรี
15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
20.กลุ่มอื่นๆ
เมื่อผู้สมัครคุณสมบัติผ่าน จะเข้าสู่กระบวนการเลือกกันเองภายใน 20 กลุ่ม ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนมีสิทธิเลือกสมัครได้แค่ 1 กลุ่ม และใน 1 อำเภอเท่านั้น
โดยทุกกลุ่มจะเลือกกันเองตั้งแต่ในระดับอำเภอ พอได้ตัวแทนระดับอำเภอก็ไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับจังหวัด จากนั้นค่อยไปคัดเลือกกันเองต่อในระดับประเทศ
เมื่อผ่านทั้ง 3 รอบ โดยผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของกลุ่มๆ นั้น ได้รับเลือกเป็น สว. ทำให้ได้ตัวแทนกลุ่มละ 10 คน จาก 20 กลุ่ม เป็นตัวจริงที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น สว. 200 คน