นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานครบรอบ 51 ปี การเคหะแห่งชาติ (กคช.) พร้อมแถลงผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2566 และแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานของการเคหะแห่งชาติ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสันทนาการ สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ปัจจุบันดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” และในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 นี้จะครบรอบ 51 ปี ของการก่อตั้ง โดยกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติได้พัฒนาที่อยู่อาศัยในทุกรูปแบบไปแล้วทั้งสิ้น 752,160 หน่วย ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเคหะชุมชน โครงการบ้านเอื้ออาทร โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการอาคารเช่า เป็นต้น ขณะที่ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ปี 2566 การเคหะแห่งชาติได้คะแนน 96.24 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม เป็นอันดับที่ 3 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง พม. และเป็นอันดับที่ 16 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เข้าร่วมการประเมินจำนวน 51 แห่ง นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล “Compliance Award” หน่วยงานนำร่องภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance : GPPC) โดยในปี 2567 การเคหะแห่งชาติมีแผนการใช้ Platform GPPC อย่างเต็มรูปแบบในทุกกิจกรรม
ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติยังได้รับรางวัลอสังหาริมทรัพย์ดีเด่น FIABCI-Thai Prixd'Excellence Awards 2023 ประเภทที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน จังหวัดชลบุรี (บ่อวิน) ระยะที่ 2 เป็นหนึ่งในโครงการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย (บ้านเบอร์ 5) และได้การรับรองจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เน้นย้ำ “การสร้างสังคมให้น่าอยู่” โดยเริ่มตั้งแต่การก่อสร้างที่คำนึงถึงความยั่งยืนและการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติอีกด้วย
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติขับเคลื่อนภารกิจภายใต้แผนวิสาหกิจการเคหะแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2566-2570 (ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2566) และแผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. 2567 โดยเร่งดำเนิน “โครงการ Quick Win” กำหนดเป้าหมายไว้ ได้แก่ โครงการบริหารหน่วยส่งมอบ เป็นหน่วยที่อยู่อาศัยพร้อมขาย 6,000 หน่วย โครงการบริหารการก่อสร้าง ก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้ได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวนกว่า 3,000 หน่วยให้แล้วเสร็จ และส่งมอบให้ประชาชนได้อยู่อาศัยหรือให้ประชาชนได้เช่าตามแผนที่กำหนด โครงการจัดประโยชน์ทรัพย์สินจากพื้นที่ว่างภายในโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ โครงการบริหารอาคารเช่า ในปีนี้มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เร่งบรรจุผู้เช่าให้ได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ยังมี “โครงการมุ่งเน้น” ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะพัฒนาในรูปแบบผสมผสาน Mixed-Used/ Mixed-Income รองรับประชาชนทุกกลุ่มให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน ในระดับราคาที่สามารถรับภาระได้ประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะ 2-4 ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้าง 2 อาคาร ได้แก่ อาคาร D1 สูง 35 ชั้น จำนวน 1 อาคาร รวม 612 หน่วย มีความคืบหน้าการก่อสร้างได้ 96.35% ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานด้านภูมิสถาปัตย์ เช่น ถนน สวน เก็บงานสี เก็บรายละเอียดงานห้องพักอาศัย และทดสอบระบบ เป็นต้น คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และสามารถให้ผู้เช่าเข้าอยู่อาศัยได้ประมาณเดือนเมษายน 2567 และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติได้มีการปฐมนิเทศผู้อยู่อาศัยเดิม แฟลตที่ 23-32 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าอยู่อาศัย และจับสลากเลือกห้องพักอาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 จำนวน 363 ราย ซึ่งมีผู้ยื่นขอชดเชยสิทธิแทนการเข้าอยู่อาศัย จำนวน 139 ราย ได้รับเงินชดเชยรายละ 400,000 บาท นอกจากนี้ ยังให้สิทธิครอบครัวขยาย จำนวน 32 หน่วย ส่วนอาคาร A1 สูง 32 ชั้น จำนวน 1 อาคาร 635 หน่วย ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ คาดว่าเมื่อได้ผู้รับจ้างรายใหม่แล้วจะสามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ประมาณกลางปี พ.ศ. 2569
ด้านโครงการบ้านเคหะสุขประชา เป็นโครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพมุ่งเน้น “มีบ้าน-มีอาชีพ-มีรายได้-มีความสุข” โดยขณะนี้ก่อสร้างโครงการนำร่องและส่งมอบพร้อมทำสัญญาเช่าให้กับผู้ได้สิทธิแล้ว 2 โครงการรวมทั้งสิ้น 572 หน่วย ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า 270 หน่วย บรรจุผู้เช่าได้ 258 หน่วย คิดเป็น 95.55% และโครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง 302 หน่วยบรรจุผู้เช่าได้ 273 หน่วย คิดเป็น 90.39%
โครงการบ้านเคหะสุขเกษม จังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์) เป็นโครงการบ้านเช่ารองรับสังคมผู้สูงอายุ เน้นการออกแบบ Universal Design แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ จำนวน 90 อาคาร รวมทั้งสิ้น 3,956 หน่วย ตั้งอยู่ที่ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ปัจจุบันได้สร้างอาคารต้นแบบเสร็จแล้ว 45 หน่วย และในปี 2567 จะเสนอขออนุมัติหลักการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินโครงการระยะที่ 1 ส่วน 2 และระยะที่ 2 รวมทั้งสิ้น 876 หน่วย
โครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาโครงการแบบผสมผสาน (Mixed-Use) ตามเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development : TOD) ในพื้นที่ร่มเกล้า ตั้งอยู่บริเวณถนนร่วมพัฒนา แขวงลำผักชี เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่โดยรวมประมาณ 352 ไร่ ระยะที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างประมาณ 8,000 หน่วย ภายใต้การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก่อนนำเสนอคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางที่ไม่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 - 2566 ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 2,236 ราย เป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป 1,865 ราย กลุ่มเปราะบาง 281 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อฯ 1,453.89 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 ให้สินเชื่อกับลูกค้าแล้ว จำนวน 171 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อฯ 110.913 ล้านบาท
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายประจำปีงบประมาณ 2567 สู่การปฏิบัติของการเคหะแห่งชาติ นายทวีพงษ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประชาชนยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยในราคาที่รับภาระได้ ซึ่งโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติมีราคาไม่แพง เข้าถึงง่าย มี 3 รูปแบบ คือ 1) เช่าซื้อกับการเคหะแห่งชาติ 2) ผ่อนกับสถาบันการเงิน และ 3) ผ่อนกับโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย กรณีถูกสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ
ทั้งนี้ ในปี 2567 การเคหะแห่งชาติมี “บ้านพร้อมอยู่” ทั้งในรูปแบบขายและเช่า ได้แก่ โครงการบ้านตั้งต้น First-Jobber Housing ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6,928 หน่วย แบ่งออกเป็น อาคารขาย 5,500 หน่วย และอาคารเช่า 1,428 หน่วย นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับทุกกลุ่มเป้าหมาย (เพื่อขาย/เพื่อเช่า) ประกอบด้วย โครงการที่อยู่อาศัยที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในปี 2567 จำนวน 21 โครงการ 5,342 หน่วย โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 606 หน่วย โครงการที่อยู่อาศัยตามแผนการก่อสร้าง 9,927 หน่วย โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2,429 หน่วย และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคารแปลง D1 จำนวน 612 หน่วย
และขณะนี้การเคหะแห่งชาติยังได้จัดโปรโมชันพิเศษให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ที่สนใจโครงการของการเคหะแห่งชาติทั้งในรูปแบบเช่าและซื้อเป็นของตนเอง สำหรับโครงการประเภทเช่า ได้แก่ บ้านตั้งต้นเพื่อเช่า เป็นห้องเช่าสำหรับกลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน หรือ First Jobber และประชาชนที่สนใจ ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้คัดเลือกโครงการที่ตั้งในทำเลที่มีศักยภาพในหลากหลายพื้นที่เพื่อนำมาเข้าร่วมโครงการ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนรวม 1,428 หน่วย เริ่มตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 อัตราค่าเช่าชั้น 1-4 ราคา 1,500 บาท/เดือน และชั้น 5 ราคา 1,200 บาท/เดือน และโปรโมชันสำหรับโครงการประเภทซื้อ ได้แก่ บ้านเพื่อทุกคน House for All สำหรับประชาชนทุกกลุ่มรายได้ที่ต้องการซื้อบ้านเป็นของตนเอง โดยการเคหะแห่งชาติได้คัดเลือกโครงการหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 5,500 หน่วย เพียงวางเงินจองเริ่มต้น 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่บัดนี้ ถึง 31 มีนาคม 2567 พร้อมรับโปรโมชั่นพิเศษ 2 ต่อ คือ ต่อที่ 1 รับส่วนลด 5-20% และต่อที่ 2 รับส่วนลด 60,000-120,000 บาท กรณีต้องการผ่อนชำระโดยตรงกับการเคหะแห่งชาติ สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษในปีแรกเพียงร้อยละ 4.50/ปี และกรณีสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ ลูกค้าสามารถยื่นขอสินเชื่อจากโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษในปีแรกเพียงร้อยละ 1.50/ปี
นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติมีแผนการดำเนินงานเตรียมความพร้อมและปรับตัวของประชากรกลุ่มเปราะบางเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ตามนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและกลุ่มเปราะบางที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน โดยการเคหะแห่งชาติได้พัฒนาที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้อยู่อาศัย ซึ่งมีมาตรการรับมือ Climate Change 3 รูปแบบ คือ 1.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับทุกกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ โครงการที่อยู่อาศัยที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในปี 2567 จำนวน 21 โครงการ 5,342 หน่วย และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างหรือก่อสร้างแล้วเสร็จ 3,041 หน่วย 2.โครงการบ้านตั้งต้น (First Jobber) เป็นที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ 6,928 หน่วย ประกอบด้วย อาคารขาย 5,500 หน่วย และอาคารเช่า 1,428 หน่วย 3.โครงการยกระดับคุณภาพชีวิต (Smart Sustainable Community : SSC) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยใน 4 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการมีส่วนร่วม ด้านสุขภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ธนาคารขยะ การติดตั้ง Solar Cell การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน การจัดกิจกรรมครอบครัวอบอุ่น และโครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม
อีกโครงการหนึ่งคือ โครงการส่งเสริมสมรรถนะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้โครงการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแผนป้องกัน/แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์และวางแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ โดยบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตอบสนองนโยบายของรัฐในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยมีเป้าหมายใน 2 กลุ่มจังหวัด 8 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง คือ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง คือ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี
“ในปีที่ 51 ของการเคหะแห่งชาติ ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนมาแล้วกว่า 7.5 แสนหน่วย ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในทุกมิติ ทั้งในด้านกายภาพ เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโครงการให้มีความน่าอยู่และปลอดภัย ด้านสังคม เช่น การจัดตั้งผู้นำชุมชนหรือคณะกรรมการชุมชนในการขับเคลื่อนและบูรณาระหว่างการเคหะแห่งชาติ ผู้อยู่อาศัยในชุมชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน และด้านเศรษฐกิจ เช่น การจัดอบรมฝึกอาชีพให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนเพื่อนำไปต่อยอด จนสามารถพัฒนาให้เป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก เพื่อเป็นการยกระดับรายได้ของคนในชุมชนให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานของการเคหะแห่งชาติ และบุคลากรทุกคนยังคงมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทุ่มเททรัพยากรเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและดูแลคุณภาพชีวิตของลูกบ้านการเคหะแห่งชาติให้ดีที่สุด”ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำ