โดยประเด็นดังกล่าวนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวขึ้นในการไปปาฐกถาพิเศษของการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า ที่ผ่านมาตัวเลขการลงทุนภาครัฐค่อนข้างต่ำมาจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และไม่มีการลงทุนโครงการใหม่ โดยโครงการสุดท้ายที่รัฐบาลลงทุนคือ การก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งรัฐบาลแก้ปัญหาโดยกำหนดให้ดึงงบประมาณคืนจากส่วนราชการที่ไม่ใช้เงินตามแผน ทำให้มีงบประมาณคืนกลับมาใช้ลงทุนใหม่เพิ่มเฉลี่ยปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท และในปี 2561 กระทรวงคมนาคมกำหนดงบลงทุนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ไว้ทั้งสิ้น 309,607 ล้านบาท แบ่งเป็นทางบก 152,162 ล้านบาท, ทางราง 96,203 ล้านบาท, ทางน้ำ 7,323 ล้านบาทและทางอากาศ 53,537 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 103 โครงการ ระหว่างปี 2560-2564 วงเงินรวมกว่า 745,710 ล้านบาท โดยจะปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาให้กลายเป็นสนามบินนานาชาติที่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคน มากกว่าสนามบินสุวรรณภูมิในเฟสแรกที่รองรับผู้โดยสารได้จำนวน 45 ล้านคน ซึ่งเมื่อวางระบบเชื่อมโยงกับสนามบินสุวรรณภูมิที่จะขยายศักยภาพให้รองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคน และสนามบินดอนเมือง อีก 30 ล้านคน
พร้อมทั้งขยายท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 จะทำให้กรุงเทพไม่ได้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่ออีกต่อไป แต่สนามบินอู่ตะเภาจะถูกยกระดับให้เป็นสนามบินที่ให้บริการทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ และยังจะมีโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค สอดรับกับการที่ไทยสามารถปลดธงแดงจาก ICAO ได้สำเร็จก่อนกำหนดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมไม่ใช่เพียงแค่ทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงระบบได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือ ผู้พิการด้วย
ส่วนความคืบหน้า รถไฟไทย-จีน นายอาคม ได้ออกมาเปิดเผยว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 4 ชุด เพื่อเร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เบื้องต้นขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รอผลการศึกษาจากคณะกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สรุป ช่วงบ้านภาชี-โคราช ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแบบก่อสร้างได้สิ้นเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าจะสามารถก่อสร้างเส้นทางกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.ภายในกลางเดือนธันวาคม 2560 ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2-3-4 นั้น จะก่อสร้างได้หลังจากจีนส่งแบบก่อสร้างมาไทยและสร้างได้ในไตรมาส 1 ปี 2561
สำหรับแผนงานก่อสร้างโครงการรถไฟไทย-จีนนั้น ก่อนหน้านี้ไทย-จีนมีการลงนามในสัญญา 2.1 และ 2.2 เพื่อให้ฝ่ายจีนส่งแบบก่อสร้างมาให้ไทยก่อนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้าง โดยการก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตร เส้นทางกลางดง-ปางอโศกนั้น จะให้กรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้าง ส่วนงบประมาณทาง รฟท.จะเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณ
ขณะที่การออกแบบโครงการอีก 3 ช่วงที่เหลือ ได้แก่ ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร ช่วงที่ 3 แก่งคอย-โคราช ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร ช่วงที่ 4 แก่งคอย-บางซื่อ ระยะทาง 119 กิโลเมตรนั้น ได้เร่งรัดให้ฝ่ายจีนออกแบบโครงการให้เร็วและส่งให้ไทยภายใน 6 เดือน หากช่วงใดออกแบบเสร็จและไทยถอดแบบเสร็จก็สามารถเปิดประมูลได้ทันที คาดว่าไตรมาส 1 ปี 2561จะเริ่มเปิดประมูลได้
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายจะต้องเสร็จปี 2565 แน่นอน เพื่อเชื่อมต่อรถไฟไทย-จีนของประเทศลาวที่จะเปิดให้บริการปี 2565 ส่วนวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการรถไฟไทย-จีนนั้น จะเป็นแหล่งเงินกู้ในประเทศทั้งหมด ส่วนระบบรถ ตัวรถ ระบบรางนั้น จะมาหารือกับฝ่ายไทยอีกครั้งหนึ่ง