วันนี้ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ห้องประชุมแควใหญ่ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี พลโท อมฤต บุญสุยา แม่ทัพน้อยที่1/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่1 เป็นประธานการประชุมและร่วมรับฟังการรายงานสถานการณ์และการปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วย นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายอุทัย ขันทอง รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี นายเชษฐ พวงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนายอำเภอที่เกี่ยวข้อง ร่วมรายงานสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาของไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)ในพื้นที่ฯ
การปฏิบัติการดับไฟป่า และการควบคุมมลพิษทางอากาศ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ส่งผลให้สภาพภูมิประเทศในประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างมาก และมีภูเขาสูง ชัน เกิดความชื้นในอากาศน้อยทำให้แห้งแล้งทั่วบริเวณ เกิดไฟป่าตามธรรมชาติหลายแห่ง และยังมีการเผาป่าเพื่อเตรียมทำพื้นที่เกษตรกรรม เป็นผลให้ในทุกปี จังหวัดกาญจนบุรี จะตรวจพบจุดความร้อนเป็นจำนวนมากในระดับต้น ๆ ของประเทศ โดยบางวันตรวจพบจุดความร้อน กว่า 300 แห่ง ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยจังหวัดกาญจนบุรีมีการแบ่งพื้นที่อนุรักษ์ป่าแบบบูรณาการ เป็น 12 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติไทรโยค อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำละว้า – ดาวดึงส์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอุทยานสมเด็จพระศรีนครินทร์
โดยในที่ประชุม มีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ Video Conference ร่วมประชุม และได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาชี้แจงว่าการสื่อสารเป็นประเด็นที่สำคัญโดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชน เนื่องจากจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้กระทบต่อการท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นรายได้ที่จะนำเข้าสู่ประเทศ และจังหวัดกาญจนบุรี จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องการควบคุมมลพิษทางอากาศ
ทั้งนี้จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการดับไฟป่า และควบคุมมลพิษทางอากาศในห้วงที่ผ่านมา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการรับมือสถานการณ์ไฟป่า และมลพิษทางอากาศ ด้วยการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีการตรวจพบจุดความร้อน 100 – 200 แห่ง โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดับไฟป่า โดยได้รับการสนับสนุน เฮลิคอปเตอร์ KA-32 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการรดน้ำดับไฟป่า และเฮลิคอปเตอร์ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการบินสำรวจพื้นที่ และได้รับการสนับสนุนทีมเดินเท้าเสือไฟจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดต่าง ๆ ร่วมในการดับไฟป่าในพื้นที่ดังกล่าว แต่จากสภาพภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขาสูงสลับซับซ้อนรวมถึงข้อจำกัดในการบินของเฮลิคอปเตอร์ และทีมเดินเท้าดับไฟ จึงสามารถควบคุมไฟป่าได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น และในพื้นที่สูงชัน ยังมีไฟป่าอยู่หลายแห่ง เป็นผลให้สภาพอากาศ ยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน