ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดตรังตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2531 , 2548 , 2553 และ 2554 ส่งผลกระทบต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจเสียหายเป็นอย่างมาก นั้น
กรมชลประทาน ได้วางแผนในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำตรัง โดยการดำเนินโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ด้วยการก่อสร้างขุดคลองผันน้ำหนองตรุด-คลองช้าง เริ่มตั้งแต่บริเวณบ.หนองตรุด ม.1 ต.หนองตรุด อ.เมือง มาสิ้นสุดที่บ.คลองช้าง ม.4 ต.บางรัก อ.เมือง ความยาวคลองทั้งสิ้น 7.550 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมกับก่อสร้างประตูระบายน้ำหนองตรุด (ต้นคลอง) และประตูระบายน้ำคลองช้าง(ปลายคลอง) ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 – 2562
หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยจากการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำตรัง ช่วงที่มีการก่อสร้างพนังกั้นน้ำชิดริมสองฝั่งของแม่น้ำตรัง ช่วยลดระดับน้ำในแม่น้ำตรังไม่ให้เกิดน้ำล้นคันของพนังกั้นน้ำ ซึ่งอาจจะทำให้พนังกั้นน้ำเกิดการทรุดตัวและส่งผลให้น้ำทะลักเข้าไปท่วมพื้นที่ชุนชนในเขตเมืองและพื้นที่ใกล้เคียงได้ ที่สำคัญจะช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่ปากแม่น้ำตรังลงสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงฤดูแล้ง ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 3,000 ไร่ และฤดูฝนได้ประมาณ 10,000 ไร่