พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มีหนังสือบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ 0001(ผบ)/48 ลงวันที่ 23 ก.พ. เรื่อง กำชับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน ถึง รอง ผบ.ตร. และ จตช. ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ รอง จตช. ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า และ ผบก. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ใจความว่า ด้วยปรากฎมีเหตุการณ์ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ตร. จากการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ของข้าราชการตำรวจ ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือคลุมเครือในประเด็นต่างๆต่อประชาชนและสังคมมากยิ่งขึ้น อันเกิดจากข้อมูลที่ไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างครบถ้วน เนื่องด้วยมีกระบวนการ ขั้นตอน หรือข้อจำกัดทางกฎหมาย ระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น อีกทั้งในบางประเด็นมิได้มีความจำเป็นหรือเกิดประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานตามภารกิจของ ตร. แต่อย่างใด ซึ่ง ตร. มีระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2556 ลง 11 มี.ค.56 ให้ข้าราชการตำรวจถือปฏิบัติไว้แล้ว
เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย และเป็นแนวทางการปฏิบัติเดียวกันของการพิจารณาในการให้ข่าวการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ จึงกำชับดังนี้
1.ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 30 ดังกล่าวข้างตันอย่างเคร่งครัด และให้ใช้วิจารณญาณ ประกอบดุลยพินิจที่มีพื้นฐานบนประโยชน์สาธารณะ และภาพลัษณ์ขององค์กรเป็นสำคัญ ไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะของการบ่อนทำลาย หรือมุ่งที่จะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์หรือกระแสสังคมเพื่อบั่นทอนภาพลักษณ์ หรือการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ หรือสร้างสภาวะเกื้อกูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน
2.การให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ กรณีเหตุที่เกิดหรือประเด็นข้อพิพาท ข้อสงสัยในการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานของ ตร. หรือข้าราชการตำรวจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย หรือมากกว่านั้น ให้ผู้ได้รับแต่งตั้ง หรือรับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าหน่วยงาน ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นโฆษกของหน่วยงาน เป็นผู้ให้ข่าวตามหน้าที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกรณีเป็นคดีความที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือคดีอาญาสำคัญที่ประชาชนให้ความสนใจในวงกว้างและอาจส่งผลกระทบต่อ ตร. และให้ถือปฏิบัติตามสั่งการ ว.ตร. ด่วนที่สุด ที่ 001 (ศปก.ตร.)/91 ลง 7 มิ.ย.60
ทั้งนี้หากพบการกระทำฝ่าฝืนในเรื่องที่กำชับไว้ดังกล่าวอันมีลักษณะเข้าข่ายของการกระทำที่เป็นความผิดวินัย หรืออาญา จะพิจารณาดำเนินการอย่างเด็ดขาดต่อไป เพื่อถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด.