โดยนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมนายลักษณ์ วจนานวัช และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯ ได้เข้าสักการะพระพิรุณทรงนาค ศาลพระภูมิ ศาลท้าวเวสสุวรรณ ศาลตายาย ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิประจำกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงฯข้าราชการเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับจำนวนมาก
ทั้งนี้ นายกฤษฎา ให้สัมภาษณ์ว่า ตนพร้อมรมช.เกษตรฯจะร่วมมือกันทำงานช่วยเกษตรกรในช่วง 3 เดือนแรกนี้ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำต้องเร่งแก้ไขให้ได้ผลชัดเจน เช่นปัญหาราคายางพารา ซึ่งได้สั่งการยางแห่งประเทศ(กยท.)ไม่นำยางในสต็อกที่เหลืออีกกว่า 1 แสนตัน มาขายแข่งในในตลาดเพื่อไม่ให้กระทบกลไกราคาตลาดโลก พร้อมกับทำแผนให้หน่วยงานราชการนำยางไปใช้ให้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมาย 1 แสนตันต่อปี รวมทั้งจะมีมาตรการทำให้การขายยางของเกษตรกร ได้ราคายางที่จะต้องไม่ต่ำกว่าทุนการผลิตและในระยะยาวจะวางแผนร่วมกันทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯว่าแนะนำให้เกษตรกร ทำเกษตรชนิดใด เมื่อปลูกลงทุนไปแล้วจะต้องขายได้ไม่เกิดปัญหาการขาดทุนที่เป็นปัญหาใหญ่ภาคเกษตรมาตลอด
“เรื่องยางได้แก้เร่งด่วนไม่นำยางในสต็อกมาขายแข่งตลาด รวมทั้งจะให้กรมวิชาการเกษตร ทำต้นทุนการผลิตมาใหม่ว่าเป็นเท่าใดเพื่อวางมาตรการดูแลผลประโยชน์เกษตรกรไม่ขายต่ำกว่าทุน แม้ผมจะจบรัฐศาสตร์ แต่โชคดีไปเป็นผู้ว่าในจังหวัดที่ผลิตการเกษตรแหล่งสำคัญทำให้รู้ปัญหาเกษตรกรและสองปีช่วงเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรฯทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกชุมชน จะใช้เวลา 38 ปีในการทำงานรับราชการไปทุกจังหวัด มีเป้าหมายทำเรื่องเพิ่มรายได้เกษตรกร ดูแลให้พี่น้องเกษตรกรให้มีการผลิตที่มั่นคง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯไปแนะนำปลูกอะไรต้องรู้ว่ามีคนซื้อด้วยอย่าทำให้เกษตรกรหมดหวังในอาชีพต้องให้เขามีกำลังใจในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพด้วย รัฐมนตรีทั้งสามคน ทำอย่างไรก็ได้ให้การผลิตการของเกษตรกรขายได้ไม่ขาดทุน ไม่เดือดร้อน ในเวลา 3 เดือนแรกจะมีอะไรดีขึ้น ทำทุกสิ่งทุกอย่างบนข้อเท็จจริง หากจะใช้มาตรการแทรกแซงราคาต้องมีเหตุผลรองรับ ผมมาด้วยความตั้งใจ ช่วยเหลืองานชาติบ้านเมือง ตามพระราชดำรัสในหลวงให้ทำประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน”นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับปัญหาไอยูยูประมง จะได้ปลดใบเหลืองหรือไม่นั้นในขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากชาวประมงมีข้อเรียกร้องอย่างไรยินดีรับฟังมาพบได้ การขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ตนไม่รื้อของเก่าที่ดีอยู่แล้ว จะทำให้หนักแน่นได้ผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นค้น ซึ่งตนไม่เข้าใจว่า ยาง ข้าว ปาล์ม เป็นเรื่องการเมือง หรือไม่ แต่เป็นปัญหาราคาพืชผลเป็นเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกร จะต้องหามาตรการช่วยเหลือที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ แผนงานนโยบาย และกฎหมาย
“จะหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกร เมื่อผลิตออกมาแล้วขายได้ ส่วนจะทำให้ราคายาง 60 บาทนั้น ยังไม่ได้กำหนดตัวเลขล่วงหน้า ยืนยันว่าจะดูแลให้คุ้มทุน แทรกแซงหรือไม่ต้องหารือ ไม่โยนกระทรงพาณิชย์ อะไรที่ทำได้ทำเลย จะใช้กลไกสหกรณ์ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางได้ เรื่องกลไกตลาด จะต้องคุยกับ รมว.พาณิชย์ เพราะเป็นฝ่ายขายทำอย่างไรกัน สอดรับทันการณ์ไม่ถูกพ่อค้ากดราคา ซึ่งไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง”นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนายลักษณ์ กล่าวว่า รมว.เกษตรฯสั่งให้ยกปัญหาราคายางพารา เป็นวาระเร่งด่วน ขณะนี้มีข่าวดีประเทศผู้ผลิต มีมติควบคุมปริมาณส่งออก โดยให้แต่ละประเทศไปรายงาน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร จะมีผลกลางเดือนธ.ค. เป็นต้นไป ในตอนนี้ตลาดต่างประเทศตอบรับราคายาง ที่ประเทศจีนตันละ 300 หยวน ส่งผลมาถึงตลาดในไทย วันนี้ราคาเริ่มขยับขึ้น กก. 50 สตางค์อยู่ในช่วงแนวโน้มราคาขึ้น ทั้งนี้ปัญหาเกษตรกร ขายต่ำกว่าทุน ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน ไม่ใช่ผลประโยชน์ไปตกใครคนหนึ่งไม่ได้ ตนจะหารือกับนายวิวัฒน์ วางมาตรการดูแลการผลิตไม่ให้เกษตรกรขายขาดทุน รวมทั้งขณะนี้ราคาข้าว ได้ขยับขึ้นด้วยเช่น ข้าวหอมมะลิ 13 -14 บาทต่อกก. ข้าวขาว 8.5-9 พันบาทต่อตัน โดยคณะกรรมการนโยบายข้าว(กบข.) มีมาตรการให้สินเชื่อเกษตกรกู้ เพื่อชะลอการขายข้าวต้นฤดู ไม่ออกสู่ตลาดมาก จนไปกดดันราคา แต่เป็นห่วงราคาข้าวเหนียว กข.6 ที่ออกมาช่วงปลายฤดูฝน มีเมล็ดสั้น มีความชื้นสูงทำให้มีราคาต่ำ ได้ให้นักวิชาการแนะนำทำข้าวเหนียวอายุยาว
นายลักษณ์ กล่าวว่า ตนมีแผนทำไซโล เพื่อชะลอพืชผลการเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่ต้องทำให้เกิดมีการรวมกลุ่มเกษตรกร เกิดพลังในพื้นที่ เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใช้ระบบสหกรณ์ ที่มีความเข้มแข็ง ช่วยจัดการบริหาร สินค้าเกษตร เพิ่มศักยภาพให้ขึ้นมา 50% เพื่อมีอำนาจต่อรองในตลาดมากขึ้น
“เพิ่มประสิทธิภาพขบวนการสหกรณ์ ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพื่อออกมาซื้อดูดซับผลผลิตการเกษตร เก็บเข้าไซโล ในช่วงฤดูการผลิตที่ออกมามากจะแก้ปัญหาราคาได้มีเสถียรภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี มีแนวนโยบายสนับสนุนเกษตรกรเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ยังเป็นเพียงนามธรรม ผมจะชวนเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) ภาคส่วนราชการ มาสร้างขีดความสามารถภาคเกษตร ทวงคืนมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตของเกษตรกร ที่ตกในมือพ่อค้า มาจากสู่เกษตรกรให้ได้จริง”
ขณะที่ นายวิวัฒน์ กล่าวว่า รมว.เกษตรฯมอบงานในส่วน 10 หน่วยงาน ทั้งหมดมีโครงการพระราชดำริ โดยเฉพาะเรื่องน้ำมีวิกฤติทุกปีเจอทั้งน้ำท่วม ภัยแล้งโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 100 ล้านไร่ น่าห่วงในช่วงนี้ต้องเร่งวางแผนล่วงหน้าช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้ผลผลิตเสียหาย เพราะเริ่มเข้าฤดูแล้งแล้ว ตนจะยกระดับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำงานร่วมกับกองทัพอากาศ(ทอ.)เพื่อเสริมศักยภาพฝนหลวง แก้ปัญหาหมอกควัน และกรมชลประทาน ด้วยใช้แนวทางแก้น้ำท่วมตามแนวพระราชดำริให้มากขึ้น รวมถึงจะแก้ภัยแล้งตามแบบในหลวง ร.9 ทรงรับสั่งขุดบ่อทำหลุมขนมครกแต่ละหลุมสามารถ เก็บน้ำ 2,560 ลบ.ม. เมื่อฝนตกขังดูดซับไปในดิน เชื่อมต่อจากขุดหนอง คลอง สิ่งสำคัญต้องกลไกการมีส่วนร่วมทุกระดับ ตนได้ทำเป็นแผนเสนอสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ(สปท.)ขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาลงสู่พื้นที่ให้ได้
นายวิวัฒน์ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่เป็นเพื่อนนายกรัฐมนตรี จึงได้มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ว่าสมัยเรียนโรงเรียนวัดนวลนรดิษ เป็นรุ่นน้องนายกฯแต่ไม่รู้จักท่านนายกฯ ส่วนท่านนายกฯมารู้จักตน โดยเห็นตนเล่นละครเฉลิมพระเกียรติ เย็นศิระน้ำพระทัย ได้เล่นเป็นอ.ยักษ์ ทางช่อง 5 พออีกวันรุ่งขึ้นท่านนายกฯสั่งในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ให้กองกำลังทหารทั้งประเทศ มาเรียนรู้วันละ 15 ชม.ที่ศูนย์มาบเอื้อง เรียนรู้วิธีบริหารแบบบ้านๆหรือแบบคนจน ที่อยู่ภายใต้ความขาดแคลน เน้นสร้างวินัย เป็นคนดี ภูมิใจชาติ ต่อมาเกิดเป็น โคกหนองนาโมเดล ได้ขยายไป 24 ลุ่มน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำป่าสักฯทำ5 พันกว่าแห่งแก้ปัญหาความยากจนได้จริงตนจะนำทษฎีในหลวง ร.9 ตนจะขยายแนวพระราชดำริไปทั่วโลกทำให้รอดพ้นความอดอยากและภัยพิบัติต่างๆ ได้