ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี นายนพพร วสุธาผาภูมิ พร้อมตัวแทนชาวบ้านบ้านทุ่งเสือโทน หมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เดินทางมายื่นหนังสือให้กับร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เรื่อง ขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินงานโครงการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่ศูนย์ดำรงธรรมชั้นล่างศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 15 ม.ค.67
ต่อมาวันที่ 26 ม.ค.67 นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี นายวัลลภ จินดา ปลัดอำเภอทองผาภูมิ รวมทั้งผู้แทนสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี นายบรรจง รสจันทร์ นายก อบต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ นายนิติพล ตันติวานิช กำนันตำบลชะแล นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี ร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ โดยมีนายชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ. กรมควบคุมมลพิษ ร่วมประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) โดยในที่ประชุมได้มีการนัดหมายลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบหน้างานอีกครั้งหนึ่งแต่ยังไม่ระบุวันนัดหมาย
ล่าสุดวันนี้ 27 ก.พ.67 ผศ.ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์และนักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งมีผลงานการศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ มาเป็นระยะเวลาหลายปี จากกรณีเหตุการณ์การที่ตัวแทนชาวบ้าน เดินทางมายื่นคำร้องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรีร้องเรียนปัญหาลำห้วยคลิตี้ พร้อมทั้งมีการประชุมร่วมกันระหว่างรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนชาวบ้าน และผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา จึงได้รวบรวมข้อมูลปัญหาลำห้วยคลิตี้มาวิเคราะห์โดย เริ่มต้นจากคำถามว่า “เหตุใดวิธีการติดตามการฟื้นตัวตามธรรมชาติ (Monitored Natural Recovery) จึงไม่ได้ผล”
ผศ.ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์และนักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า วิธีการติดตามการฟื้นตัวตามธรรมชาติ (Monitored Natural Recovery) หรือ MNR เป็นหนึ่งในวิธีการลดความเสี่ยงจากตะกอนดินที่ปนเปื้อนมลพิษที่สากลยอมรับ แนวคิดที่สำคัญคือการใช้กระบวนการทางธรรมชาติในการลดความเสี่ยงจากมลพิษ ได้แก่ การทับถมตะกอนปนเปื้อนสู่ชั้นดินลึก การย่อยสลายทางชีวภาพ การดูดซับ ตกผลึกทางเคมี เป็นต้น
วิธีการนี้ไม่ใช่การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการไม่ทำอะไรเลยอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจ แต่ต้องมีการวางแผนดำเนินการต่อเนื่อง ระยะยาว ด้วยความเข้าใจ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอาจสูงกว่าวิธีอื่น ๆ และอาจต้องใช้วิธีการทางวิศวกรรมเข้าช่วยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงประจักษ์ที่กำหนดไว้ เช่น การควบคุมแหล่งกำเนิด การเพิ่มเสถียรภาพของตะกอน ลดการกัดเซาะตลิ่ง การตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ต้องอาศัยระยะเวลายาวนาน และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำจากการฟุ้งกระจายของตะกอนดินในบางฤดูกาล วิธีการ MNR ไม่ควรใช้ในพื้นที่ที่ต้องการการฟื้นฟูเร่งด่วนหรือในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อมนุษย์และระบบนิเวศระดับสูง ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว MNR จึงไม่เหมาะสมที่จะใช้กรณีของลำห้วยคลิตี้นี้
ผศ.ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ ได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะอีกว่า จากการศึกษาข้อมูลปัญหาลำห้วยคลิตี้ในเบื้องต้น พบว่าประเทศไทยยังไม่เคยมีกรณีฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้ แม้ว่ามีหลายกรณีที่มีการรายงานการปนเปื้อน แต่ปัญหาก็ขาดการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม จากกรณีปัญหาลำห้วยคลิตี้สะท้อนสู่การจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษอย่างเป็นระบบ ปัญหาแรกของการจัดการพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษในประเทศไทยคือ การจัดการไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วด้วยสาเหตุดังนี้
1. การฟื้นฟูพื้นที่มักไม่ถูกจัดลำดับเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สามารถใช้งบฉุกเฉินของจังหวัดได้
2. หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) ที่ใช้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้ผู้ก่อมลพิษที่เป็นเจ้าของกิจการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูทั้งหมด บ่อยครั้งที่กระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะสิ้นสุดการตัดสินให้จ่ายในศาลฎีกา และบ่อยครั้งที่ผู้ก่อมลพิษไม่สมารถจ่ายจำนวนเงินมหาศาล
นอกจากนี้ภายใต้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ย่อมหมายถึงหน่วยงานราชการไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการฟื้นฟูลำดับแรก ในกรณีของลำห้วยคลิตี้ ศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งในปี พ.ศ. 2562 ให้กรมควบคุมมลพิษเข้าดำเนินการภายหลังจากพบว่าผู้ก่อมลพิษไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลฎีกา โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ก่อมลพิษ แต่นั่นก็หลังจากที่เกิดปัญหามาแล้วกว่า 20 ปี
และ 3. กรมควบคุมมลพิษไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการฟื้นฟู ต้องอาศัยงบกลางและเงินประกันศาลในการดำเนินการ หรือต้องหางบประมาณส่วนอื่น ๆ มาใช้ก่อน และมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้เงินคืนจากผู้ก่อมลพิษปัญหาที่สองคือการขาดการติดตามการปล่อยมลพิษจากโรงงานและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่องและสะสมรุนแรง และปัญหาที่สามที่สำคัญคือ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่นในการติดตามตรวจสอบ รวมทั้งขาดการสื่อสารเพื่อการรับรู้ข้อมูลอย่างเพียงพอในช่องทางที่เหมาะสม
จากปัญหาลำห้วยคลิตี้ ทำให้ตระหนักว่าการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษเป็นปัญหาปลายเหตุที่ต้องใช้ทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก งบประมาณมหาศาล องค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ และส่งผลกระทบต่อมนุษย์และระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ โดยเน้นการควบคุมจากแหล่งกำเนิดเป็นอันดับต้น ดังนี้
1.ในขั้นตอนการให้ใบอนุญาตโรงงานภายใต้กฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือให้สัมปทานเหมืองแร่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยแร่ เจ้าพนักงานต้องพิจารณาความเหมาะสมเชิงพื้นที่อย่างรอบคอบ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน รวมถึงหน่วยงานราชการและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ ต้องมีการเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินกิจการ ได้แก่ ดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ ไว้เป็นฐานข้อมูลด้วย แม้ว่าขั้นตอนและข้อมูลดังกล่าวถูกรายงานไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) แต่ไม่ใช่ทุกอุตสาหกรรม ทุกขนาดที่ต้องทำรายงานนี้
2.เพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามตรวจสอบการปล่อยมลพิษ ผ่านช่องการสื่อสารและการรายงานผลการปล่อยมลพิษสู่สาธารณะในช่องทางที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์ ในกรณีของลำห้วยคลิตี้ การรายงานผลให้ประชาชนทราบจำเป็นต้องใช้สื่อสิ่งพิมพ์ที่เข้าใจง่ายผ่านรูป เนื่องจากประชาชนบางส่วนไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ เป็นต้น
และ 3.สนับสนุนการนำเทคโนโลยีการตรวจวัดการปล่อยมลพิษจากท่อหรือปล่องอุตสาหกรรมมาใช้ เพื่อรายงานผลสู่ส่วนกลางอย่างทันทีทันใด เพื่อลดข้อกำจัดทางด้านจำนวนบุคลากรของเจ้าพนักงาน อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีการควบคุมและตรวจสอบผลโดยเจ้าพนักงานหรือบุคคลที่เจ้าพนักงานแต่งตั้งด้วย ในปัจจุบัน กฎหมายว่าด้วยโรงงานได้กำหนดให้โรงงานบางประเภทต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการปล่อยมลพิษจากปากท่อและปล่องแบบอัตโนมัติ แต่กิจกรรมเหมืองแร่ไม่ได้ถูกกำหนดให้ต้องดำเนินการ และแนวทางดังกล่าวยังไม่ได้รับการกล่าวถึงในกฎหมายว่าด้วยแร่
นอกจากนี้ การฟื้นฟูพื้นที่ที่ปนเปื้อนเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นและต้องมีกลไกการรับมืออย่างเป็นระบบ จึงขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนเพื่อเติมเต็มช่องว่างในการจัดการปัจจุบัน ดังนี้
1.ปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งงบประมาณในการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนอย่างรวดเร็ว และเพียงพอ เห็นว่าหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ควรครอบคลุมผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรร่วมด้วย ภาษีสิ่งแวดล้อมอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของแหล่งงบประมาณสำหรับกิจกรรมการฟื้นฟูนี้ นอกจากนี้ กฎหมายควรให้อำนาจหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาควบคุมการแพร่กระจายมลพิษและฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนโดยไม่ต้องรอคำตัดสินของศาล
และ 2.ส่งเสริมการวิจัยและความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างประเทศในด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน โดยเป็นเหตุจากการที่ประเทศไทยในปัจจุบัน ขาดแคลนบุคลากรที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน สะท้อนจากการใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมากในการลองผิดลองถูกเพื่อการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ดังเช่นที่ผ่านมา
ผศ.ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์และนักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณชาวบ้านคลิตี้ล่างที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิเพื่อตนเอง ลูกหลาน และประชาชนคนไทยอย่างไม่ลดละ ก้าวแรกในการเดินทางมักจะยากลำบาก เราควรเก็บเกี่ยวทุกบทเรียนของความผิดพลาดเพื่อแก้ไขและเดินทางต่อไป หากหยุดเดิน ประเทศไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร”
////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน