ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาญจนบุรี - สทนช.ร่อนหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี 1 มี.ค.นี้ ที่ สทนช.
29 ก.พ. 2567

        วันนี้ 29 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)เตรียมก่อสร้างโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ประกอบด้วย อ.บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ และพนมทวน 

       ซึ่งกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้กำหนดแนวทางเลือกในการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เอาไว้ 7 แนวทาง ดังนี้ ทางเลือกที่ 1. ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีชู พร้อมระบบกระจายน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์

       ทางเลือกที่ 2 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ พร้อมวางระบบท่อส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล

      ทางเลือกที่ 3 ก่อสร้างระบบส่งน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ถึงตำบลวังดัง และคลองส่งน้ำจากตำบลวังด้งไปยังพื้นที่รับประโยชน์ สำหรับทางเลือกที่ 3 ได้พิจารณาเปรียบเทียบบริเวณจุดรับน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ไว้เป็น 2 แนวทาง ดังนี้ 

      ทางเลือกที่ 3.1 ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำจาก River Outlet ของเขื่อนศรีนครินทร์ ถึงตำบลวังด้ง และคลองส่งน้ำจากตำบลวังด้งไปยังพื้นที่รับประโยชน์ ทางเลือกที่ 3.2 ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ไปยังท้ายเขื่อนศรีนครินทร์ และต่อเชื่อมกับระบบท่อส่งน้ำไปยังตำบลวังด้ง และคลองส่งน้ำจากตำบลวังด้งไปยังพื้นที่รับประโยชน์ ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางที่ปรึกษาหารือเพิ่มเติมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

      ทางเลือกที่ 4 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนท่าทุ่งนา พร้อมวางระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ด้วยท่อส่งน้ำและคลองส่งน้ำ ทางเลือกที่ 4.1 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนท่าทุ่งนา พร้อมวางระบบท่อส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล ทางเลือกที่ 4.2 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนท่าทุ่งนาพร้อมวางระบบท่อส่งน้ำไปยังตำบลวังด้งและคลองส่งน้ำจากตำบลวังด้งไปยังพื้นที่รับประโยชน์

       ทางเลือกที่ 5 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่บริเวณตำบลวังด้ง พร้อมวางระบบคลองส่งน้ำจากตำบลวังด้งไปยังพื้นที่รับประโยชน์
      ทางเลือกที่ 6 ก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่บริเวณตำบลวังดัง พร้อมวางท่อส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเทียน และอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล

      และทางเลือกที่ 7 ก่อสร้างระบบผสมระหว่างอุโมงค์และสูบน้ำจากแควใหญ่ ทางเลือกที่  7.1 ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู พร้อมระบบกระจายน้ำไปยังอำเภอห้วยกระเจาและเลาขวัญ และก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่บริเวณตำบลวังด้ง พร้อมวางท่อส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ของอำเภอบ่อพลอย

     ทางเลือก 7.2 ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซูพร้อมระบบกระจายน้ำไปยังห้วยกระเจาและเลาขวัญและก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่บริเวณตำบลวังด้ง พร้อมวางคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์อำเภอบ่อพลอย

     ทางเลือก 7.3 ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซูพร้อมระบบกระจายน้ำไปยังห้วยกระเจา เลาขวัญและบ่อพลอย ฝั่งตะวันออกของลำน้ำลำตะเพิน และ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่บริเวณตำบลวังด้ง พร้อมวางคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ อำเภอบ่อพลอย ฝั่งตะวันตกของลำน้ำลำตะเพิน

      เมื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยทั้งในด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม สังคมและค่าลงทุด สรุปได้ว่าแนวทางการผันน้ำด้วยอุโมงค์มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยกรมชลประทานและ สทนช.ได้จัดทำแผนการก่อสร้างใน 4 ระยะ งบประมาณรวมกัน 12,007.96 ล้านบาท ประกอบด้วย 

      ระยะที่ 1 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้ภูเขาที่ระดับเฉลี่ย 500 เมตรจากผิวดิน ไปลงอ่างเก็บน้ำลำอีซู  ขนาดอุโมงค์ 4.20 เมตร ความยาว 20.500 กิโลเมตร อัตราผันน้ำวันละ 1.036 ล้าน ลบ.ม. มีอาคารประกอบ ได้แก่ อาคารรับน้ำ และอาคารจ่ายน้ำ ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู  ถึงบ่อพักน้ำหลุมรัง ท่อส่งน้ำเหล็กเหนียว ขนาด 2.50 เมตร ความยาว 14.195 กิโลเมตร 

     ระยะที่ 3.โครงการก่อสร้างบ่อพักน้ำหลุมรังขนาด 651 ไร่ ความลึกน้ำ 4.00 เมตร ความจุบ่อพักน้ำ 3.70 ล้าน ลบ.ม. และ ระยะที่ 4.โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรังไปพื้นที่รับประโยชน์ ประกอบด้วยคลองสายหลักเป็นคลองดาดคอนกรีตยาว 94.165 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำสายซอยจำนวน 42 สาย ระยะทางรวมกัน 314 กิโลเมตร

     แต่อย่างไรก็ตาม นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านเส้นแนวทางเลือกการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรีมาโดยตลอด เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและลุ่มน้ำชั้น 1A โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สนับสนุนโครงการ แต่ขอให้กรมชลประทานและ สทนช.เลือกแนวทางที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและต้นน้ำฝนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระให้น้อยที่สุด

       โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.พ.67 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีหนังสือไปถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียร รวมทั้งผู้จัดการโครงการบริษัท ธาราคอนซัลแตนท์ จำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชิญประชุมหารือโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 1 มี.ค.2567 ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ตั้งแต่เวลา 09.30-12.00 น.
   /////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...