วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นายอาชวันต์ กงกะนันทน์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ ได้เข้ากราบสักการะหลวงพ่อนาค วัดหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเยี่ยมเยียนนายจรรญา (ลุงตี่) พรมหอม สามล้อถีบคนสุดท้ายของหัวหิน วัย 72 ปี ซึ่งยังประกอบอาชีพสามล้อถีบอยู่ในปัจจุบัน ด้วยใจรักและเป็นการออกกำลังกายไปในตัว เพื่อจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
นายจรรญา (ลุงตี่) พรมหอม วัย 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 206 ชุมชนอ่างน้ำ ซอยหัวหิน - ห้วยมงคล 4 กล่าวว่า ตนเริ่มอาชีพปั่นสามล้อตั้งแต่ปี 2512 สมัยวัยรุ่นก็มีไปทำอย่างอื่นบ้าง กลับมาปั่นสามล้อบ้าง หลังๆ มาก็ยึดเป็นอาชีพเลย ตอนทำแรกๆ ไม่ได้รักในอาชีพนี้เลย แต่สมัยนั้นไม่รู้จะทำอาชีพอะไร ทำมานานเลยเกิดความผูกพัน ตอนนี้เหลือเป็นคันสุดท้ายของหัวหินแล้ว ตนสามารถรับผู้โดยสารได้ครั้งละ 2 คน ขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักตัวของผู้โดยสาร ส่วนเรื่องของรายได้จากการปั่นสามล้อนั้น ราคาค่าบริการจะคิดตามระยะทาง เริ่มที่ 40 - 50 บาท วันหนึ่งมีรายได้ประมาณ 200 บาท ก็พออยู่ได้ แก้เหงา เพราะได้ออกมาเจอเพื่อน เจอพวกเพื่อนเก่าๆ
การดูแลซ่อมแซมจักรยานสามล้อก็มีบ้าง ไม่ค่อยมาก แต่อะไหล่จักรยานถือว่าหายากและมีราคาแพง ซึ่งจักรยานคันนี้มีอายุมากแล้ว ประมาณ 60 ปีได้มั้ง เคยมีคนมาขอซื้อ ตนก็ไม่อยากขาย อย่างน้อยเอาไว้ออกกำลังกาย ส่วนลูกหลานก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้บอกให้เลิกปั่น เพราะเขาอยากให้ได้เราออกกำลังบ้าง อยู่บ้านก็นอนอย่างเดียว ลุงจอดตรงที่วัดหัวหินเป็นที่ประจำ ประมาณ 9 โมงเช้า จนถึง 1 ทุ่ม เส้นทางการปั่น ก็ปั่นไปตามเส้นทางสัญจรปกติ แต่จะเลือกเส้นทางที่รถไม่พลุกพล่านมากนัก
นายอาชวันต์ กงกะนันทน์ กล่าวว่า วันนี้ได้มากราบสักการะหลวงพ่อนาค วัดหัวหิน เพื่อความเป็นสิริมงคลและมาเยี่ยมให้กำลังใจลุงตี่ แอบสังเกตได้ว่าลุงตี่มีสุขภาพแข็งแรง แจ่มใส สามารถประกอบอาชีพปั่นสามล้อบริการประชาชนได้ตามปกติ เพียงแต่อาจจะไม่แข็งแรงสมบูรณ์เหมือนสมัยก่อน แต่แกยังสามารถเล่าเรื่องเมืองหัวหินในความทรงจำได้แจ่มชัด เหมือนเหตุการณ์เพิ่งผ่านมาเมื่อวาน นึกถึงสมัยก่อนเมื่อปี 2512 ที่หัวหินมีสามล้อถีบ มากถึง 100 คันเลยทีเดียว
“อยากจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวหัวหิน ช่วยกันสนับสนุนการประกอบอาชีพโดยใช้บริการรถสามล้อถีบของลุง อาจจะเป็นระยะทางสั้นๆ ก็ได้ในช่วงเวลาเย็นๆ เนื่องจากช่วงกลางวันอากาศค่อนข้างร้อน หรือจะใช้บริการรถสามล้อถีบของลุงไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวอำเภอหัวหิน เช่น สถานีรถไฟหัวหิน (อาคารเดิม) ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูปเช็คอินอาคารสถาปัตยกรรมหลังเก่า ซึ่งบ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์ของหัวหินร่วมกับรถสามล้อของลุง เพื่อเป็นภาพจำของเมืองหัวหิน จะเป็นการสนับสนุนลุงตี่ไปในตัว และให้กำลังใจลุงตี่ในการประกอบอาชีพต่อไป ซึ่งต้องถือเป็นตำนานสามล้อถีบคันสุดท้ายของหัวหินแล้ว” นายอาชวันต์กล่าว.