“พิมพ์ภัทรา” กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการ ส่งออกรถยนต์ไปประเทศออสเตรเลีย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานมลพิษใหม่ของรถยนต์ พร้อมเสนอ นายกฯ เร่งหาทางออก ในเวทีประชุม ASEAN Summit ที่ออสเตรเลีย
วันที่ 2 มีนาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการหารือกับผู้บริหารบริษัทโตโยต้า มอร์เตอร์ประเทศไทย จำกัด และผู้บริหารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา การกำหนดมาตรฐานมลพิษใหม่ของรยนต์ที่จัดจำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่า (New Vehicle Efficiency Standard – NVES) ทางการออสเตรเลียมีแผนการบังคับใช้ในปี 2568 ซึ่งหากมีการบังคับใช้มาตรฐานนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากกับการผลิตรถยนต์ของผู้ประกอบการในประเทศไทยลดลง โดยปัจจุบันมีการส่งออกรถยนต์แบรนด์โตโยต้าไปยังออสเตรเลีย 46,000 คันต่อปี และยังไม่รวมแบรนด์อื่นๆ มูลค่าจำนวนมาก และหากไม่ได้ตามมาตรฐานที่ทางการออสเตรเลียกำหนดมีค่าปรับสูงมากถึง 100 เหรียญ/กรัม/กิโลเมตร กรัม
ล่าสุด ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ได้ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยต้องการเวลาที่เหมาะสมเพื่อการปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่าน ที่รวมถึงการที่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหลายส่วน จึงต้องการขอให้ทางการออสเตรเลียพิจารณาระยะเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 2-3 ปี ภายใต้ข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (WTO TBT Agreement) ซึ่งทางออสเตรเลียเองอยู่ระหว่างเวียนแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวให้ประเทศสมาชิกมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ภายในวันที่ 30 เมษายน 2567
สมอ. ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม รายงานว่าได้ดำเนินการแจ้งกฎระเบียบดังกล่าวของออสเตรเลียไปยังผู้เกี่ยวข้องในประเทศไทยทุกส่วน เช่น สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นต้น เพื่อรวบรวมและรับฟังความเห็นอย่างเป็นทางการ
นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า ทันทีที่ทราบเรื่อง นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไม่นิ่งนอนใจ และได้นำประเด็นนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางไปประชุม ASEAN Summit ที่ออสเตรเลีย ในวันที่ 3 มีนาคมที่จะถึงนี้ อีกทั้งยังย้ำว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นหนึ่งในภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม การดำเนินการของภาคอุตสาหกรรมควรเป็นไปตามความเหมาะสม ให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ควบคู่กับการเคารพในกรอบกติกากฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ