กฟผ.หนุนใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในกทม.-ปริมณฑล ระบุพร้อมเปิดใช้สถานีอัดประจุให้รถโดยสารในโครงการฯชารจ์ไฟฟ้าฟรีตลอดระยะเวลาการทดสอบภายใน1ปี ขณะที่ขสมก.คาดดีเดย์ มิ.ย.61นำร่อง
นายสืบพงษ์ บูรณศิริรินทร์ รองผู้ว่าการกิจสังคมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยภายหลังเป็นตัวแทนร่วมพิธีลงนามความร่วมมือ “การสาธิตและประเมินผลการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้านำร่องในเขตกรุงเทพและปริมณฑล” โดยมีรศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และนายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชน(ขสมก.)และศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมลงนามในครั้งนี้ว่า ถือว่าโครงการนี้เป็นการทดลองนำร่อง สาธิต และประเมินผลการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อพัฒนา เตรียมความพร้อมให้ภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้กฟผ. สนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารไฟฟ้านำร่อง แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาทดสอบ และจะเก็บข้อมูลการใช้พลังงาน ประเมินประสิทธิภาพการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบในสภาพการใช้งานจริงในประเทศไทย เพื่อต่อยอดสู่แนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ กฟผ. มีนโยบายจะมียานยนต์ไฟฟ้า ในศูนย์นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานใหญ่ เพื่อให้บริการประชาชนที่มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้และโรงไฟฟ้าอีกด้วย ประกอบกับกฟผ.มีนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการจัดการพลังงานสะอาดในอนาคต
นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ขสมก. จะนำรถโดยสารไฟฟ้าของบริษัท เอดิสัน มอเตอร์ส จำกัด จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. ใน 5 เส้นทางเดินรถ ของขสมก. ในพื้นที่เขตการเดินรถที่ 5 อาทิ สาย 140, 76, 20 สลับหมุนเวียนกันไป ซึ่งจะเริ่มทดลองในเดือนมิถุนายน 2561 ระยะเวลาทดลอง 1 ปี โดยเส้นทางการเดินรถ จะขับขึ้นสะพานพระราม 9 ซึ่งมีความสูงชัน ต้องใช้แรงขับเคลื่อนสูง โดยรถจะสามารถรับน้ำหนักทั้งนั่งและยืนได้มากกว่า 50 คน และสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนในระยะทางมากกว่า 200 กิโลเมตร ขณะที่ กฟผ. จะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่อู่ ขสมก. แสมดำ