ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
กทม.จ่อขยาย BKK Food Center ครบ 50 เขต เพื่อกลุ่มเปราะบางเข้าถึงอาหารทั่วกรุง
09 มี.ค. 2567

ผู้ว่าฯ กทม. ตรวจเยี่ยมโครงการ BKK Food Bank เขตพระโขนง เตรียมขยาย BKK Food Center ให้ครบ 50 เขต เพื่อกลุ่มเปราะบางเข้าถึงอาหารทั่วกรุง

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมโครงการ BKK Food Bank เขตพระโขนง โดยมีนายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม นางสายทิพย์ สุคนธ์มณี ผู้อำนวยการเขตพระโขนง ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม ผู้บริหารเขตพระโขนง ร่วมตรวจเยี่ยมและรายงานผลการดำเนินการ ณ ศูนย์ BKK Food Center เขตพระโขนง ชั้น 1 สำนักงานเขตพระโขนง

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีความหลากหลายและมีความเหลื่อมล้ำสูง มีทั้งคนที่เหลือเฟือและคนที่ขาดแคลน สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สังคมคนกรุงเทพฯเป็นสังคมที่มีน้ำใจ กทม. จึงมีหน้าที่ประสานระหว่างผู้ที่ต้องการบริจาคกับผู้ที่ขาดแคลน โดยใช้สำนักงานเขตเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากสำนักงานเขตจะทราบว่ามีกลุ่มเปราะบาง หรือผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องการรับความช่วยเหลืออยู่ในพื้นที่กี่คน จุดใดบ้าง โดยให้สำนักงานเขตจะจัดตั้งเป็นศูนย์กลางเพื่อกระจายของบริจาคสู่ผู้ที่มีความต้องการในรูปแบบที่มีศักดิ์ศรี โดยจัดทำเป็นรูปแบบคล้ายซูเปอร์มาร์เก็ตให้ผู้ที่ขาดแคลนมาเลือกสินค้าได้เอง รวมถึงมีการสะสมแต้มคะแนนเพื่อแลกสินค้าที่ต้องการได้ด้วย เป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและได้สิ่งของตรงตามความต้องการของผู้ที่ขาดแคลน ซึ่งในต่างประเทศมีการทำ Food Bank มานานแล้ว ในส่วนของ กทม. จะพัฒนาโครงการ BKK Food Bank นี้ ขยายให้ครบ 50 เขต เพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มเปราะบางให้มากที่สุดต่อไป

'จุดมุ่งหมายของ กทม. คือ ต้องการเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่อยากแบ่งปัน โดยสามารถแบ่งปันสิ่งของได้ที่สำนักงานเขต หรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ข้อดีของระบบ BKK Food Bank คือมีความชัดเจน สร้างความไว้ใจ และสร้างความมั่นใจว่าสิ่งของจากผู้ที่แบ่งปันจะถึงมือผู้ที่ขาดแคลนและยากลำบากได้จริง เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน และช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจให้กับกลุ่มเปราะบางในเมืองกรุงฯได้ ซึ่งโครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้อยู่ที่การสนับสนุนจากผู้ที่ประสงค์จะแบ่งปัน'

ศูนย์ BKK FOOD CENTER เขตพระโขนง เป็น 1 ใน 4 เขตนำร่องของกรุงเทพมหานคร (เขตห้วยขวาง เขตบางขุนเทียน เขตบางพลัด เขตพระโขนง) ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาอาหารส่วนเกินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยส่งต่อแก่ผู้ที่ขาดแคลน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนจนเมือง หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน สร้างกลไกส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างผู้ให้และผู้รับอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยจัดหารวบรวมส่งต่อวัตถุดิบอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) จาก 'ผู้บริจาค สู่ ผู้รับ' เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ขาดแคลนอาหารอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ให้แก่ประชาชน สร้างระบบการบริหารจัดการด้านการจัดเก็บฐานข้อมูลต่างๆ เช่น ภาคีเครือข่ายผู้บริจาคอาหารจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ ปริมาณอาหารเหลือทิ้ง ปริมาณคาร์บอนที่สามารถลดลงได้ สอดคล้องกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อมดี และด้านบริหารจัดการดี

BKK Food Bank เขตพระโขนง ประกอบด้วย 1. อาหารส่วนเกิน (food Surplus) ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิ สโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ (Scholars Of Sustenance : SOS Thailand) ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ดำเนินการสัปดาห์ละ 3 วัน (อังคาร พุธ และพฤหัสบดี) ส่งต่ออาหารแก่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ชุมชนที่จัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร 45 ชุมชน และอีก 15 ชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียน, เจ้าหน้าที่ภาคสนามของสำนักงานเขตพระโขนง และเด็กนักเรียนด้อยโอกาส โดยปี 2566 เริ่มดำเนินการ 22 ส.ค.66 - 30 ก.ย.66 มีเป้าหมายดำเนินการ 18 ครั้ง ดำเนินการ 18 ครั้ง (คิดเป็น 100 %) ปี 2567 เริ่มดำเนินการ 1 ต.ค.66 - 30 ก.ย.67 มีเป้าหมายการดำเนินงาน 139 ครั้ง ดำเนินการแล้ว 60 ครั้ง (คิดเป็น 43.17%) ซึ่งจากผลการดำเนินการตั้งแต่ 22 ส.ค.66 - 29 ก.พ.67 รวมส่งต่ออาหารแล้ว 3,411 ราย คิดเป็น 13,295.06 มื้ออาหาร รวมน้ำหนักอาหารส่วนเกิน 3,165.49 กิโลกรัม สามารถลดปริมาณคาร์บอน 8,008.69 คาร์บอนไดออกไซค์ (TCO2e)

2. อาหารบริจาค (Food Donation) ส่งมอบอาหารแก่กลุ่มเปราะบาง ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร วัดธรรมมงคลเถาบุญญนนท์พระวิหาร และบริษัท จัสปาล จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเปราะบางในชุมชนจดทะเบียน 45 ชุมชน ในชุมชนไม่จดทะเบียน 15 ชุมชน กลุ่มคนงานภาคสนามของสำนักงานเขตพระโขนง กลุ่มนักเรียนผู้ด้อยโอกาส รวมถึงเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนหมู่บ้านนิรันดร์วิลล่า ดำเนินการตั้งแต่มีนาคม 2566 เป็นต้นมา ทั้งในรูปแบบอาหารปรุงสุก ข้าวสารอาหารแห้ง ถุงยังชีพ ฯลฯ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการมีผู้ได้รับความช่วยหลือรวม 794 ราย

สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการคัดเลือกโดยให้ผู้นำชุมชน/คณะกรรมการชุมชน/อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เป็นผู้คัดเลือกกลุ่มเปราะบางที่มีความต้องการ รวมถึงค้นหาจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่นักพัฒนาชุมชน โดยเจ้าหน้าที่ Food Hero ลงพื้นที่มอบอาหารส่วนเกินที่ได้รับจากมูลนิธิ SOS (จัดตั้งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร) สู่ชุมชน สัปดาห์ละ 3 วัน จำนวน 45 ชุมชน และอีก 15 ชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในพื้นที่เขตพระโขนง

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...