ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ครม.อนุมัติ 163.231 ล้านบาท โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคใต้)
12 มี.ค. 2567

ครม.อนุมัติการขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคใต้) จำนวน 163.231 ล้านบาท

วันที่ 12 มีนาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคใต้) วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 163.231 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนให้ได้รับการดูแลครอบคลุมในทุกมิติอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
 
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากรายงาน ของ พม. ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ การเกิดของประชากรไทยมีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ จำนวน 13.06 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งหมด 65.06 ล้านคน พม. ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุให้ครอบคลุมในทุกมิติ (มิติสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีและนวัตกรรม) รวมถึงการป้องกันการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงและการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุ โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและดูแลผู้สูงอายุเพื่อรองรับสถานการณ์สังคมสูงอายุในปัจจุบันและอนาคต และเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิต สร้างระบบการดูแลและเฝ้าระวังทางสังคมผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ให้กับผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ จึงได้จัดทำ โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ขึ้นมา
 
โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนนั้น กรมกิจการผู้สูงอายุได้เสนอตั้งงบประมาณในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้แล้วจำนวน 8.850 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการในลักษณะนำร่องใน 12 จังหวัด 19 พื้นที่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่องบประมาณได้ผ่านการอนุมัติ
 
ทั้งนี้ จากการการลงพื้นที่ควบคู่กับการร่วมการประชุม ครม.สัญจร ทาง พม. จึงเห็นความจำเป็นในการขยายโครงการฯ ไปในภูมิภาคต่างๆ  โดย ก่อนหน้านี้ ในประชุม ครม.สัญจร ณ จังหวัดหนองบัวลำภู (9 ธันวาคม 2566) ครม. ได้อนุมัติ วงเงิน 359 ล้านบาท สำหรับ โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสร้างกลไกการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในพื้นที่ 20 จังหวัด 322 อำเภอภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว
 
จากการประชุม ครม.สัญจร ณ จังหวัดระนอง (23 มกราคม 2567 พม. ได้รวบรวมข้อมูลและพบว่า ภาคใต้ (14 จังหวัด) มีประชากรสูงอายุ จำนวน 1.62 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.14 ของประชากรภาคใต้ทั้งหมด 9.45 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ เดือนธันวาคม 2566) นอกจากนั้น ข้อมูลการคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า ภาคใต้มีประชากรสูงอายุ จำนวน 1.07 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
 
กลุ่มติดสังคม จำนวน 1.03 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 96.19
กลุ่มติดบ้าน จำนวน 33,493 คน เป็นร้อยละ 3.12
กลุ่มติดเตียง จำนวน 7,404 คน คิดเป็นร้อยละ 0.69
 
โดยผู้สูงอายุนั้นยังมีแนวโน้มอยู่ลำพังคนเดียวและถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพและหารายได้ โดยมีผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง จำนวน 189,190 คน และผู้สูงอายุดูแลกันเอง จำนวน 89,680 คน (ข้อมูลจากกรมการพัฒนาชุมชน ณ เดือนธันวาคม 2565) ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนจำนวนผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม
 
ในการประชุม ครม. วันนี้ (12 มีนาคม 2567) พม. จึงได้เสนอ โครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนในภาคใต้ ด้วยวงเงิน 163.231 ล้านบาท ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้  ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่นแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (พ.ศ. 2566-2570) ฉบับทบทวน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีแผนพัฒนาเกี่ยวกับการจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากปัญหาการพึ่งพิงและประชากรวัยเด็กลดลงทำให้มีอัตราวัยแรงงานลดลงแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (พ.ศ. 2566-2570) ที่มีแผนพัฒนาเกี่ยวกับการลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนยากจน กลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีภาวะพึ่งพิงสูง ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข เนื่องจากมีแนวโน้มความต้องการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ที่เพิ่มสูงขึ้น 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...