ชาวประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งทั่วไทย นัดหมายกันว่า ในวันที่ 13 มีนาคม 2567 จะยื่นหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎร และประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. .... ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีพื้นที่จังหวัดติดชายทะเลทั่วประเทศ โดยขอให้ ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ช่วยส่งต่อหนังสือและเอกสารข้อกังวลและข้อเสนอต่อการแก้ไขกฎหมายประมงฯ ของชาวประมงพื้นบ้าน ถึงสภาผู้แทนราษฎร เพื่อค้านแก้กฎหมายประมงฯ “ยกเลิกการคุ้มครองประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น”
ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่างแก้ไขกฏหมายประมง พร้อมกับร่างแก้กฏหมายของพรรคการเมืองต่างๆ อีก 7 ฉบับ ซึ่งสภาฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว จำนวน 37 คน ไปพิจารณาในรายละเอียด โดยใช้ร่างฉบับของคณะรัฐมนตรีเป็นฉบับหลัก ในการพิจารณา ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้วสองครั้ง
สาระสำคัญ ที่บรรดาชาวประมงพื้นบ้านต้องยื่นหนังสือทักท้วง เนื่องจากมีสาระการตัดวัตถุประสงค์การคุ้มครองช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น ออก รวมทั้งกรณี การลดเขตทะเลชายฝั่ง การเปิดช่องให้เครื่องมือประมงหนักเปลี่ยนมาเป็นประมงพื้นบ้าน เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการประมงประจำจังหวัด และการลดโทษลง
กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการคุ้มครองประมงพื้นบ้าน โดยมองว่า ชาวประมงพื้นบ้านเป็นประชาชนในท้องถิ่น ที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง การช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐ จึงต้องยื่นหนังสือไปยังสภาผู้แทนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดในครั้งนี้ โดยพร้อมเพียงกัน
ข่าวแจ้งว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2567 พ.ศ. .... จะมีการนัดประชุมพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับคณะรัฐมนตรีมีการเสนอแก้ไขทั้งหมด 36 มาตรา รวมการแก้ไขประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประมง IUU แก้ไขบทกำหนดโทษ และค่าธรรมเนียมนำเข้าสัตว์น้ำ ฯ โดยมีกรอบเวลาทำงานประมาณ 3 เดือน และจะมีการลงพื้นที่ดูงานใน พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 25-26 มีนาคม นี้ด้วย