นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ไปจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP)ใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค.2561 ซึ่งส่วนตัวยอมรับว่าแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP-2015)ซึ่งมีอัตราค่าไฟเฉลี่ยเมื่อสิ้นสุดแผนปี2579 จะอยู่ที่ 5.55 บาทต่อหน่วยนั้นเห็นว่าแพงไปเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.80 บาทต่อหน่วย ในส่วนของก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ที่มีการประเมินว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะมีกำลังผลิตถึง 500 ล้านตัน/ปี จากปี 2560 มีกำลังผลิตและการใช้ประมาณ 200-250 ล้านตัน/ปีและราคาคาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำ
ทั้งนี้ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ภาคใต้นั้นยอมรับว่ามีความสุ่มเสี่ยงการขาดแคลนในอนาคตเพราะขณะนี้มีโรงไฟฟ้าหลักแค่ 2 แห่งคือโรงไฟฟ้าจะนะและขนอมรวม 2,406 เมกะวัตต์ คิดเป็น70 %ของความต้องสูงสุด ที่ปีนี้อยู่ที่ที่2,624 เมกะวัตต์ ขณะที่การใช้เติบโตเฉลี่ยปีละ 3.4% จากการท่องเที่ยว ดังนั้นกระทรวงพลังงานจะเร่งสรุปว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าหลักเชื้อเพลิงอะไร กำลังผลิตเท่าใด โดยยืนยันว่าไม่ใช่ถอดใจเรื่องเชื้อเพลิงถ่านหินแต่อย่างใดซึ่งจะชัดเจน เมื่อแผนพีดีพีใหม่แล้วเสร็จ
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า หากไม่มีโรงไฟฟ้าหลักเกิดขึ้นในปี 2563 ก็คาดว่าภาคใต้จะมีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งขณะนี้โครงการสายส่งจากภาคกลางไปภาคใต้ 500 เควี ในขณะนี้มีความล่าช้าไป1ปีจะเสร็จในปี 2564 ดังนั้นในช่วงดังกล่าวจะต้องหาทางประคองสถานการณ์ โดยกระทรวงพลังงานจะร่วมกันรณรงค์ประหยัดพลังงานในทุกภาคส่วน รวมทั้งใช้แผน DEMAND RESPONCE ในการดำเนินการ ในปัจจุบันในภาคใต้ จังหวัดที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด 6 จังหวัดได้แก่ สงขลา 538 เมกะวัตต์ หรือ 20% สุราษฏร์ธานี 443 เมกะวัตต์ หรือ 17% ภูเก็ต 141 เมกะวัตต์ หรือ 16% นครศรีธรรมราช 314 เมกะวัตต์ หรือ 12% จ.ตรัง 137 เมกะวัตต์ หรือ 5% และ กระบี่ 134 เมกะวัตต์ หรือ 5%