สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงาน
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ประมาณการความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 นั้น มีการพิจารณาสมมติฐานสำหรับการประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.2 – 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อีกทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น ปี 2567 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 การใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และประมาณการความต้องการไฟฟ้าปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกจากนี้คาดช่วงฤดูร้อนของปี 2567 อาจเกิดยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของประเทศมากกว่า 35,000 เมกะวัตต์ หากสภาพอากาศร้อนสะสมยาวนาน และไม่มีฝนมาช่วย ทั้งนี้หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการใช้ไฟฟ้าที่ทำลายสถิติพีคประเทศปี 2566 ที่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ประมาณ 34,827 เมกะวัตต์ และจะเป็นยอดพีคไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 15-16% จากพีคปี 2566
อย่างไรก็ตาม สนพ. คาดว่าปริมาณพีคไฟฟ้าปี 2567 ที่คาดการณ์ไว้ 35,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้สำรองไฟฟ้าที่มีอยู่มากในปัจจุบัน (ปัจจุบันมีสำรองไฟฟ้าอยู่ 30% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าประเทศ) ลดลงต่ำกว่า 25% โดยสาเหตุที่คาดการณ์ว่าจะเกิดพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทำลายสถิติพีคไฟฟ้าปี 2566 เนื่องจากในวันที่ 7 มี.ค. 2567 เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ประมาณ 32,000 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มียอดใช้ไฟฟ้าเพียงกว่า 28,000 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในปี 2567 นี้สภาพอากาศร้อนขึ้น ส่งผลความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ช่วงเวลาการเกิดพีคไฟฟ้าเริ่มไปเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน เนื่องจากช่วงกลางวันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นและมาตัดยอดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวันได้ แต่ตอนกลางคืนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทำให้ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงอื่นๆ เต็มที่ ดังนั้น สนพ.คาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า กระทรวงพลังงานจะต้องบริหารจัดการกับการผลิตไฟฟ้ารองรับพีคไฟฟ้าใหม่ โดยต้องพิจารณาว่าในช่วงกลางคืนจะมีพลังงานทดแทนชนิดใดที่พึ่งพาได้มาช่วยเสริมระบบ เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานลม และไฟฟ้าส่วนเกิน เป็นต้น
สำหรับในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่นั้น เบื้องต้นคาดการณ์ว่าไทยจะเกิดพีคไฟฟ้าสูงสุดช่วงปลายแผน ปี พ.ศ. 2580 ประมาณ 5 หมื่นเมกะวัตต์ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น ซึ่ง สนพ. กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน PDP ให้เหมาะสมและรองรับการใช้ไฟฟ้าของประเทศระยะยาวต่อไป