ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
21 มี.ค. 2567

จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิชาการต้านโรคมะเร็งครั้งที่ 14 ภาคตะวันออก พบเป็นพื้นที่ผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้เป็นอันดับ 1 
 
(20 มี.ค.67) ณ ห้องประชุมโรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช พัทยา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิชาการต้านโรคมะเร็ง ครั้งที่ 14

นายแพทย์ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี ในฐานะคณะกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมาตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปี พบผู้ป่วยรายใหม่ต่อปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากข้อมูลสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี พ.ศ.2565 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 400 คนต่อวัน และเสียชีวิตประมาณ 84,000 คน หรือกว่า 230 คนต่อวัน พบมะเร็งตับ-ท่อน้ำดี มาเป็นอันดับแรก โดยสถานการณ์มะเร็งในภาคตะวันออก 5 อันดับแรก คือ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ

โรงพยาบาลชลบุรี ในฐานะเป็นหน่วยบริการตติยภูมิด้านโรคมะเร็ง และเป็นแม่ข่ายในการพัฒนาวิชาการโรคมะเร็ง ได้เล็งเห็นกิจกรรมสำคัญในการพัฒนาระบบเครือข่าย จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายและวิชาการโรคมะเร็งในเขตสุขภาพที่ 6 ขึ้น ภายใต้โครงการ “ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาวิชาการด้านโรคมะเร็ง ครั้งที่ 14”

ด้านนายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร เพื่อลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง และลดอัตราการตายจากโรคมะเร็งได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดตั้งทีม Cancer Warrior (แคนเซอร์ แวริเออร์) ต่อสู้กับโรคมะเร็งทั้ง 5 ชนิด คือ มะเร็งตับ, มะเร็งท่อน้ำดี, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง, มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ในระดับกระทรวง ระดับเขตบริการสุขภาพ และระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการดูแลมะเร็งแบบครบวงจรทั่วประเทศ แต่ถึงอย่างไรก็ตามในส่วนของภาคตะวันออก ซึ่งผู้เสียชีวิตยังคงเป็น 5 อันดับแรกคล้ายกับของประเทศ แต่ผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งอันดับ 1 คือ “มะเร็งลำไส้”

ดังนั้น การประชุมวันนี้เป็นการประชุมเชิงวิชาการเป็นหลัก มีตั้งแต่เรื่องการสื่อสารนโยบายให้ผู้ปฏิบัติรับทราบ การอัพเดทความรู้ใหม่ ๆ ทั้งด้านการแพทย์การพยาบาล เจาะพิเศษเรื่องของด้านการให้รังสีรักษา การวินิจฉัยชิ้นเนื้อ การอ่านผลเซลล์ สุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับทันตกรรม ซึ่งเป็นสิทธิ์ใหม่ที่ทาง สปสช. เพิ่งประกาศมาในปี – 2 ปีว่า มีการให้สิทธิ์ในการคัดกรองมะเร็งช่องปาก

การรักษาโรคมะเร็งด้านรังสีในภาคตะวันออก ปัจจุบันสามารถใช้บริการได้ที่หน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยบริการที่ให้บริการรังสีรักษาทั้งหมด 7 แห่ง (12 เครื่อง), โรงพยาบาลมะเร็ง ชลบุรี (4 เครื่อง), โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี (2 เครื่อง), โรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งขนาดเล็กแคนเซอรอลิอันซ์ ศรีราชา จ.ชลบุรี (1 เครื่อง), โรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งขนาดเล็กวิภารามอมตะนคร จ.ชลบุรี (2 เครื่อง), โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง (1 เครื่อง), โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 สมุทรปราการ (1เครื่อง) ซึ่งการบริการนี้ครอบคลุมทั้งสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าจาก สปสช.ทั้งหมด ส่วนโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรปราการ อยู่ระหว่างดำเนินการกับ สปสช.

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...