“กระทรวงการคลัง” ได้เสนอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกครั้งถึงการลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 2.5% หลังจากพบข้อมูลกำลังซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องกระทบอัตราการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ล่าสุดการจัดเก็บรายได้รัฐบาล 4 เดือนแรกต่ำกว่าประมาณการ 8,836 ล้าน
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยที่อยู่ที่ระดับ 2.5% มาระยะหนึ่ง เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดกระทรวงการคลัง ส่งสัญญาณไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธทป.) ว่า ดอกเบี้ยที่สูงทำให้กำลังซื้อประชาชนอ่อนแรงลง การซื้อสินค้าคงทนอย่างรถและบ้านลดลงและมีส่วนทำให้การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐต่ำกว่าเป้าหมาย
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล สุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566-ม.ค.2567) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 824,115 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,836 ล้านบาท และเป็นการจัดเก็บรายได้ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ผลการจัดเก็บบรายได้ของภาครัฐที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัว โดยส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการซื้อที่ลดลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน
โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อรถยนต์ และที่อยู่อาศัย ที่แม้จะยังมีดีมานด์อยู่แต่ประชาชนขาดความสามารถในการผ่อนชำระ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงจึงทำให้ยอดผ่อนชำระสูงขึ้นด้วย ยอดโอนรถยนต์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงจึงทำให้การจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นรายได้ของรัฐบาลลงตามไปด้วย
“เชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยลงในเวลานี้ จะช่วยเข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาวะซบเซาได้ และเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าภาครัฐจะเริ่มดำเนินมาตรการเพื่อเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจ ขณะที่หากปล่อยให้เศรษฐกิจซบเซาลงต่อเนื่อง จะต้องใช้เงินมากกว่าในปัจจุบันเพื่อดึงให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมา”
นายลวรณ กล่าวต่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในทันที แต่อาจต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน จึงไม่กังวลประเด็นที่ว่าจะกระทบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ รวมทั้งประเด็นที่ว่าจะทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยก็มีความต่างจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมากอยู่แล้วหากธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาระดับหนึ่งก็จะไม่กระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนแต่อย่างไร
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงโดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน
ขณะที่หน่วยงานที่จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีก่อนหน้า และกรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษรวม 36,666 ล้านบาท จากฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.7%
ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรม มียอดจัดเก็บ 835,477 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 15,899 ล้านบาท หรือ 1.9% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.8% แบ่งออกเป็น
ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 - ม.ค.2567) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังท้ังสิ้น 831,752 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณท้ังสิ้น จำนวน 1,182,526 ล้านบาท
โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนม.ค.2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 172,928 ล้านบาท
ม.หอกการค้าคาด กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25-0.5%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ส่วนตัวมองว่า มีโอกาสที่ปีนี้จะลดดอกเบี้ยนโยบายได้ 2 ครั้ง หรือ 0.25-0.50% หลังจากที่สหรัฐฯลดดอกเบี้ยแล้ว เพื่อพยุงให้เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่เกิดจากการบริโภคที่แท้จริงยังขยายตัวได้ไม่ติดลบ เพราะถ้ายังติดลบต่อเนื่อง
ปัจจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อประชาชนอ่อนแรง การลดดอกเบี้ยจะช่วยผ่อนคลายเศรษฐกิจ โดยจะอยู่ในภาวะเซฟโหมดแต่จุดสำคัญของเศรษฐกิจไทยคือ การส่งออก การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรสำคัญอยู่ในระดับสูง จะเป็นจุดเปลี่ยนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบรูปตัวยู (U) โดยการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วน จากเดิมเป็นรูปตัวเค (K) ที่เฉพาะคนมีรายได้เท่านั้นที่ยังใช้จ่ายอยู่
นอกจากนี้ หากมีมาตรการการคลังผ่านเงินโอน โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากทำเร็วก็ยิ่งมีตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น โดยการใช้งบทุกๆ 100,000 ล้านบาทของเงินโอน จะทำให้จีดีพี ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.26%
ประกอบกับการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ผ่านมาตรการจูงใจ อาทิ ฟรีวีซ่าชั่วคราวหรือถาวร การเพิ่มรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเพิ่มรายได้จากการส่งออก ซึ่งทุกปัจจัยจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้จีดีพีในปีนี้ขยายตัวได้เกินกว่า 3%