ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
สธ.หนุน3P Safety ปลอดภัยผู้ป่วยเป้าคุณภาพชีวิตทุกคน
23 มี.ค. 2567

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ระบบบริการสุขภาพไทย กับนโยบาย 3P Safety” ในงานประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นพ.ภาณุมาศ ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาแทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   ซึ่งติดราชการที่ต่างประเทศ อย่างไรก็ดี แม้จะไม่สามารถมาด้วยตัวเองได้ แต่ นพ.ชลน่าน ได้ส่งวิดีโอมาสื่อสารกับที่ประชุม โดยชี้ว่าประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการขับเคลื่อนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในระดับสากล สอดคล้องกับทิศทางขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยประเทศไทยได้ขับเคลื่อนนโยบาย 2P Safety มาตั้งแต่ปี 2559

จากนั้น ในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 72 ประเทศไทยยังประกาศสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ป่วยระดับโลก และกำหนดให้วันที่ 17 ก.ย. ของทุกปี เป็นวัน World patients safety day จากนั้นในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 74 องค์การอนามัยโลกประกาศ Global Patient Safety Action Plan 2021-2030 พร้อมทั้งให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศให้ความสำคัญและขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข ก็ได้ตอบรับด้วยการขยายการขับเคลื่อนความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขให้ครอบคลุมไปถึงความปลอดภัยสำหรับทุกคน หรือ นโยบาย 3P Safety เป็นประเทศแรกของโลก

นพ.ชลน่าน ได้เน้นย้ำการประกาศนโยบาย 3P Safety ใน 3 ข้อ คือ 1.กำหนดให้มีเป้าหมายความปลอดภัยเป็น National Patient Personnel and People Safety Goals และวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน จากความร่วมมือและการสนับสนุนทรัพยากรจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  2. ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในระบบ National Incidents Reporting and Learning System เพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนาระบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน ตั้งแต่ระดับหน่วยงาน พื้นที่ส่วนภูมิภาคส่วนกลาง และระดับประเทศ 3. ส่งเสริมให้ผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพ เพื่อคุณภาพความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของทุกคน

“นโยบายทั้ง 3 ข้อจะขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุข และประชาชน พ.ศ. 2567-2570 ภายใต้การสนับสนุนของทุกภาคส่วนที่ลงนามปฏิญญาการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยร่วมกัน ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนก้าวล้ำหน้าต่อไปสู่ 3P Safety เป็นประเทศแรกในโลก และยินดีอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาคีเครือและสถานพยาบาลทั่วประเทศ สมัครใจเข้าร่วมพัฒนาไปด้วยกันโดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน”นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่ประกาศขับเคลื่อนนโยบาย 3P Safety ที่นอกจากผู้ป่วย บุคลากรสาธารณสุขแล้ว ยังกำหนดให้ประชาชนอยู่ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบาย 3P Safety และมุ่งมั่นตั้งใจให้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นนโยบายใหม่ ก็ต้องมาทำความเข้าใจว่ามีกรอบแนวทางอย่างไร ขณะที่ธีมการประชุม HA National Forum ในครั้งนี้คือเรื่องของ Growth Mindset เพื่อให้ได้ผลที่ดีขึ้น ตนจึงขอแลกเปลี่ยนวิธีที่ตนนำมาใช้ในชีวิตคือเรื่อง Better Ways หรือวิธีการทำให้ดีขึ้น

นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า ใน Better Ways นี้ต้องดูเรื่อง SUCRES คือ S = Sound คือฟังดูมีหลักการและเหตุผลหรือไม่ U = Understand คนทำเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะทำหรือไม่ C = Commit มีความมุ่งมั่นในการทำงานหรือไม่ RE = Resource คน เงิน ของ เพียงพอหรือไม่ และ S = Success การประเมินตัวเองเป็นระยะว่าประสบความสำเร็จในการทำงานมากน้อยเพียงใด ยังต้องเสริมในเรื่องใด

“เมื่อนำ Better Ways มาใช้กับ 3 P Safety ก็จะเห็นว่ามีทั้งหลักการและเหตุผล คนทำงานเข้าใจ และมีความมุ่งมั่น กระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้ป่วย แต่หน่วยงานเดียวไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้ การจะเกิด Better healthcare system ได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม”นพ.ภาณุมาศ กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...